เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 กระทรวงพลังงานได้ส่งหนังสือแจ้งต่อเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงว่า ยังไม่ได้มีการซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อน 4 แห่งบนแม่น้ำโขงสายหลัก คือเขื่อนปากแบง ปากลาย หลวงพระบางและสานะคาม และเพิ่มมาตรการหลายข้อในกระบวนซื้อขายไฟฟ้า โดยเฉพาะเงื่อนไขของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่จะต้องระบุในร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าว่า ผู้พัฒนาโครงการต้องรับผิดชอบในการเยียวยาต่อผลกระทบในประเทศไทยทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะเกิดจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและการผลิตไฟฟ้า ตามข้อกังวลของกระทรวงทรัพยากรและธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
เนื้อหาในจดหมายระบุถึง การที่กระทรวงพลังงานได้จัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1(PDP2018 Revision 1) เพื่อเป็นการวางแผนการจัดหาพลังงานไฟฟ้าของประเทศให้เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้า รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและประชากรที่เพิ่มขึ้น โดยการจัดทำแผนดังกล่าว มีการวางแผนจะรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้มีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2569, 2571, 2576,2578, โดยกระบวนการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมประสานความร่วมมือในการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ให้เป็นผู้พิจารณารับซื้อไฟฟ้า โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณารับซื้อไฟฟ้าที่สอดคล้องกับแผนPDPของประเทศไทย ความสามารถของระบบส่งไฟฟ้าที่จะรองรับการไฟฟ้าและให้ความสำคัญต่อผลกระทบในมิติต่าง ๆ เช่น ผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม เขตแดน รวมถึงความมั่นคงด้านพลังงานและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ก่อนที่คณะอนุกรรมการประสานงานฯ จะพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำของสปป.ลาว โครงการที่เสนอขายไฟฟ้าจะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาภายในสปป.ลาว มาอย่างถูกต้องครบถ้วน และจะต้องผ่านกระบวนการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง หรือ PNPCA เพื่อให้ประเทศสมาชิกคณะกรรมการแม่น้ำโขงหรือ MRC ได้ศึกษารายละเอียดโครงการ รวมถึงจัดทำข้อตกลงเพื่อลดผลกระทบข้ามพรมแดนที่อาจจะเกิดขึ้น จึงจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการต่อไป นอกจากนี้ ในกระบวนการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าของกระทรวงพลังงาน จะมีการสอบถามความเห็นที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่าง ๆ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาตอบรับซื้อไฟฟ้า เนื้อหาในจดหมายยังระบุเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการเยียวยาและบรรเทาผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตกับภาคประชาชนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม กระทรวงพลังงานจึงได้สั่งการให้ กฟผ.ระบุเงื่อนไขในร่าง Tariff MOU ดังนี้ ให้ผู้พัฒนาโครงการรับผิดชอบในการเยียวยาผลกระทบต่อประเทศทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะเกิดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและการผลิตไฟฟ้า ตามข้อกังวลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และให้ผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าแลการผลิตไฟฟ้าของ สปป.ลาว เลือกใช้วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า รวมถึงการใช้บุคลากร การจ้างงาน และการบริการจากประเทศไทย(Local Content Requirement) ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 30 ของทั้งโครงการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศไทย และสุดท้าย คือ ปัจจุบันยังไม่มีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับโครงการเขื่อนปากแบง ปากลาย พลวงพระบาง และสานะคามแต่อย่างใด