เขื่อนจีนปล่อยน้ำหนุนแม่น้ำโขงยกระดับใกล้วิกฤต พื้นที่เกษตร 3 อำเภอเชียงรายยังจมน้ำ กรมชลใช้ 10 เครื่องดันน้ำอิงออกสู่โขง “ครูตี๋” ชี้เหตุปัจจัยเพิ่มความรุนแรง สร้างถนน-ประตูกีดขวางทางน้ำ เชื่อหากสร้างเขื่อนปากแบงอีกยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์หนักหน่วง

วันที่ 24 สิงหาคม 2567 ที่บริเวณสะพานบ้านเต๋น ต.สถาน อ.เชียงของ จ.เชียงราย โครงการชลประทานเชียงราย ได้นำเครื่องดันน้ำจำนวน 10 เครื่องมาติดตั้งที่ใต้สะพานข้ามแม่น้ำอิง เพื่อดันน้ำอิงออกสู่แม่น้ำโขง เนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำอิงเพิ่มระดับอย่างรวดเร็วเพราะมีการปล่อยน้ำจากกว๊านพะเยาต้นทางแม่น้ำอิงทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำอิงได้หลากท่วมพื้นที่ อ.เทิง อ.ขุนตาล และ อ.เชียงของ

ว่าที่ ร.ต. ศราวุธ จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า เนื่องจาก ผวจ.เชียงรายเห็นว่าแม่น้ำอิงมีปริมาณน้ำมากกว่าที่ผ่านมาจึงต้องผลักดันน้ำออกให้เร็วที่สุด นอกจากพื้นที่ อ.เชียงของ อ.เทิง แล้ว อ.ขุนตาลก็ได้รับผลกระทบด้วย ถ้าระดับน้ำโขงยังต่ำกว่าระดับน้ำอิงมันก็ทำให้แรงผลักน้ำมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น โดยจะดู 2-3 วันแรกหลังจากติดตั้งเครื่อง ดูผลพื้นที่ใกล้ ๆ ถ้าลดลงแสดงว่าได้ผล

นายทวีชัย โค้วตระกูล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงราย กล่าวว่า ได้รับการสนับสนุนเครื่องผลักดันน้ำ จำนวน 10 เครื่องจากกรมชลประทาน อัตราการสูบ(ผลักดัน) 1.2 ลบ.ม.ต่อวินาทีต่อเครื่อง ระยะยกน้ำ 1.2 เมตร ใช้พลังงาน 25 kw ความเร็วน้ำที่เหมาะสมกับการติดตั้ง ไม่เกิน 1.8 เมตรต่อวินาที ผลักดันได้ 12-13 ลบ.ม.ต่อวินาที จะผลักดันน้ำให้ไหลได้เร็วขึ้น

ส่วนกรณีที่ปริมาณน้ำเขื่อนจิงหง ในมณฑลยูนนาน ประเทศจีนตอนใต้มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น มีความกังวลว่าจะมีปริมาณน้ำมาเติมในแม่น้ำโขงทำให้น้ำในแม่น้ำสาขาระบายได้ยาก นายทวีชัยกล่าวว่า ในส่วนนี้ข้อมูลของ สทนช.มีอัตราการไหลของน้ำที่ท้ายเขื่อนจิ่งหง เป็นส่วนหนึ่งที่เราได้ประเมินกันด้วย เป็นข้อมูลที่เราดูระดับตลิ่งของแม่น้ำโขงของแต่ละวันเทียบกับในบ้านเรา แต่มีข้อมูลว่าท้ายเขื่อนก็มีฝนตก เช่นเดียวกับอ่างเก็บน้ำในบ้านเราที่ระบายน้ำมา ก็เป็นส่วนหนึ่งที่มวลน้ำก็จะมารวมกันในแม่น้ำโขง

ด้านนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า ในเช้าวันนี้ (24 ส.ค.) แม่น้ำโขงได้ยกระดับขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยอยู่ในระดับ 10 เมตร ความกังวลก็คือเขื่อนจิงหงปล่อยน้ำเพิ่มขึ้นอีก นี่คือปัญหาใหญ่ผลกระทบจะเกิดขึ้นกับท้ายน้ำบ้านเรา ซึ่งเหตุการณ์ในอดีตเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2551 แม่น้ำโขงสูงอยู่ที่ระดับ 12.07 เมตร แต่ตอนนี้เริ่มมาอยู่ระดับ 10 เมตร หรือระดับ 351.26 ม.รทก. (เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง) และยังมีแนวโน้มเพิ่มระดับขึ้น ถ้าถึงระดับ 11-12 เมตรที่อ.เชียงของ ถือว่าวิกฤติรุนแรง เกิดความเสียหายเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนในลุ่มน้ำโขงและในลุ่มน้ำสาขาอย่างรุนแรงแน่นอน

ผู้สื่อข่าวถามว่าจากการสังเกตในพื้นที่ความแตกต่างของการยกระดับน้ำขึ้นระหว่างปี 2551 กับปีนี้เหมือนหรือต่างกันอย่างไร นายนิวัฒน์ กล่าวว่า วิกฤติปีนี้คือผลกระทบรุนแรง ฝนตกมากแม่น้ำสาขาก็ยกระดับขึ้นสูง ประจวบกับแม่น้ำโขงก็ยกระดับขึ้นด้วย ส่วนปี 2551 เป็นการเพิ่มระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่เกิดจากเขื่อนตอนบนที่ปล่อยน้ำลงแม่น้ำโขงแต่แม่น้ำสาขามีน้ำไม่มากเท่าปีนี้ มี ถ้าน้ำโขงยกระดับกว่านี้ พื้นที่เกษตรลุ่มน้ำอิงก็จะท่วมแช่อยู่นานทำให้เกิดผลเสียหายกับพื้นที่ทางการเกษตร นาข้าว

“จากที่ได้ไปสำรวจแม่น้ำโขงทำให้เห็นสภาพความรุนแรงที่มันเกิดขึ้น ทำให้เห็นน้ำท่วมออกไปไร่นาพี่น้องชาวบ้านเป็นพื้นที่กว้างด้วย ผมคิดว่าในปีนี้ผลกระทบรุนแรงเพราะปัจจัยที่ทำให้รุนแรงมีมากขึ้น ต่างจากในอดีตที่ไม่มากเท่าครั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้รุนแรงคือสิ่งก่อสร้าง ถนน ที่ขวางทางเดินของน้ำ และประตูระบายน้ำในแม่น้ำที่มีมาก ในแม่น้ำอิงมี 18 ประตู การทำการเกษตรทำลายผิวดิน น้ำป่าเกิดจากการชะล้างมาจากหุบเขา การจัดการน้ำที่ผ่านมาโดยเฉพาะน้ำขึ้น น้ำแห้ง น้ำท่วมในแม่น้ำอิง แก้ปัญหาด้วยการขุดลอกเท่านั้น ไม่ได้คิดเรื่องนิเวศในแม่น้ำอิงฟื้นฟูและก็สามารถลดทอนปัญหาในเรื่องของน้ำท่วมน้ำแล้งได้” ครูตี๋ กล่าว

นายนิวัฒน์กล่าวว่า การจัดการพื้นที่สีเขียวสองข้างแม่น้ำอิง เรื่องนี้ต้องเกิดขึ้น คิดว่าครั้งนี้ในลุ่มน้ำอิงจะต้องมีการทบทวนการพัฒนาที่ผ่านมาว่าไปในทางที่ถูกที่ควรหรือไม่ หรือว่ามันทำให้เกิดความเสียหายหรือเกิดผลกระทบทรัพยากรแม่น้ำมากขึ้น

“วิกฤติแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการการสร้างเขื่อนปากแบง รัฐบาล บริษัท ทุกภาคส่วนจะต้องตระหนักแล้ว ถ้าเหตุการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติเป็นอย่างนี้ แล้วมีเขื่อนปากแบง กั้นแม่น้ำโขงอยู่ทางตอนใต้ของเชียงของ และเวียงแก่น วิกฤติจากผลกระทบจากน้ำท่วมมันจะรุนแรงมากขนาดไหน ถ้ามีเขื่อนมารองรับแม่น้ำโขงตอนล่าง จึงต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเลย ความเอาใจใส่อย่างจริงจัง ซึ่งพี่น้องประชาชนพูดมาหลายครั้งแล้ว เป็นห่วงผลกระทบน้ำเท้อ ข้ามพรมแดน น้ำยกระดับท่วมในฤดูฝนอีกเป็นที่กังวลมาก”นายนิวัฒน์ กล่าว

ครูตี๋กล่าวว่า ในปีนี้วิกฤติการณ์ธรรมชาติก็มีให้เห็นแล้ว ถ้าจะดื้อดึงที่จะสร้างเขื่อนปากแบงให้ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนคืออะไร ปีนี้ชี้ให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้ว ถ้ามีเขื่อนปากแบง ผลกระทบยิ่งรุนแรง เพราะ อ.เชียงแสน อ.เชียงของ อ.เวียงแก่น จะเป็นเหมือนอ่างเก็บน้ำในฤดูฝน ระหว่างเขื่อนจิงหง ที่อยู่ตอนบน กับเขื่อนปากแบงตอนล่าง ลองคิดดูว่าสภาพอ่างเก็บน้ำในฤดูฝนของแม่น้ำโขงจะเป็นอย่างไร ผลกระทบจะเกิดกับพี่น้องประชาชนขนาดไหน

อนึ่ง ข้อมูลล่าสุดจาก สทนช.(สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ) ระบุว่า ปริมาณน้ำท้ายเขื่อนจิงหงเพิ่มขึ้นในช่วง 3 วันที่ผ่านมาจาก 1,375 ลบ.ม./วินาที ในวันที่ 19 สค.67 เพิ่มเป็น 2,205 ลบ.ม./วินาที ในวันที่ 23 สค.และล่าสุดข้อมูลจากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission-MRC)ระบุว่า วันที่ 24 สค. ระดับน้ำโขงที่หน้าเขื่อนจิงหงเพิ่มขึ้นอีก 0.46 เมตร

————-

ขอบคุณภาพมุมสูงโดยนพ.สมหมาย เอี๋ยวประดิษฐ์

More to explorer

สำรวจพื้นที่ 2 โครงการยักษ์เขื่อนกั้นแม่น้ำโขง พบการก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบางคืบหน้าไปมาก-กั้นลำน้ำโขงแล้วเกือบครึ่ง-อพยพชาวบ้านแล้วบางส่วน ชาวบ้านน้ำตาตกวัด-พระพุทธรูปเก่าต้องอยู่ใต้น้ำ ขณะที่เขื่อนปากแบงยังไม่ได้ลงมือก่อสร้างใดๆ นักอนุรักษ์-นักกฎหมายจี้ตอบคำถามผลกระทบข้ามแดน