เปิดร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan) หรือ PDP2018 ของประเทศไทย ที่จะใช้ในปี 2561-2580 ต้องเติมกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าอีกกว่า 51,415 เมกะวัตต์ โดยเปิดทางให้เอกชนผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (IPP) แข่งขันสร้างโรงไฟฟ้ากับ กฟผ. เต็มที่ รวมกว่า 23,196 เมกะวัตต์ ในขณะที่ภาคใต้ ให้ กฟผ. สร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ที่สุราษฎร์ธานี 2 โรง รวม 1,400 เมกะวัตต์ แทนโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบี่ และเทพา ส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ยังคงมีบทบาทสำคัญในสัดส่วน 20% รวมกว่า 20,757 เมกะวัตต์ เน้นโซลาร์ภาคประชาชนและไฟฟ้าจากขยะ
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) โดยนายวัฒนพงษ์ คุโรวาท รองผู้อำนวยการ สนพ. ได้เดินสายจัด “เวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan : PDP) ของประเทศไทย ฉบับใหม่ หรือ PDP/2018 ต่อเนื่องในแต่ละภูมิภาค โดยเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. จัดเวทีในส่วนของภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ และล่าสุดวันที่ 4 ธ.ค. เป็นในส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดขอนแก่น ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดทำแผน PDP2018 ฉบับสมบูรณ์ สามารถนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้ความเห็นชอบ และประกาศใช้ได้ ในรัฐบาลชุดนี้
โดยสาระสำคัญของร่างแผน PDP2018 ที่เปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆในขณะนี้ นั้น มีการคาดการณ์ถึงกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ในช่วงปี 2561-2580 เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น รวมประมาณ 51,415 เมกะวัตต์ โดยจะเป็นกำลังการผลิตที่มาจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมากที่สุด 20,757 เมกะวัตต์ (เป็นในส่วนของโครงการโซลาร์ภาคประชาชน10,000 เมกะวัตต์) โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (กฟผ.หรือ IPP) 13,156 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าหลักแข่งขันระหว่าง กฟผ. กับ IPP จำนวน 8,300 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหินนำเข้าและถ่านหินลิกไนต์ที่ กฟผ. หรือ IPP สร้าง รวม 1,740 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่น 1,105 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับของ กฟผ. 500 เมกะวัตต์ และซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 5,857 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ แผน PDP2018 นั้น จะมีโรงไฟฟ้าที่ กฟผ. ต้องแข่งขันกับเอกชนรายใหญ่ (IPP) หรือเป็นโรงไฟฟ้าที่ กฟผ. หรือ IPP จะลงทุน รวมแล้วกว่า 23,196 เมกะวัตต์ โดยเมื่อแบ่งประเภทตามสัดส่วนของเชื้อเพลิง พบว่าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งก๊าซธรรมชาติเหลวนำเข้า (LNG) จะยังคงเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้ากว่า 53% ซึ่งแตกต่างจากแผน PDP2015 ฉบับปัจจุบัน ที่พยายามจะลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติลงจากประมาณ 60% เหลือราว 30% ในขณะที่เชื้อเพลิงถ่านหินในแผน PDP ฉบับใหม่ ก็ลดสัดส่วนลงเหลือประมาณ 12% จากแผนเดิม 23% ส่วนไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นประมาณ 20% ใกล้เคียงกับแผน PDP2015
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อแยกดูรายละเอียดของแผน PDP ฉบับใหม่เป็นรายภาค จะเห็นว่า ภาคใต้ซึ่งอยู่ในความสนใจของประชาชน นั้น มีการกำหนดให้ กฟผ. สร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง จำนวน 2 โรง กำลังการผลิตโรงละ 700 เมกะวัตต์ โรงที่ 1 เข้าระบบปี 2570 และโรงที่ 2 เข้าระบบปี 2572 แทนโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา ในแผน PDP เดิม ในขณะที่ปี 2577 และ 2578 กฟผ. จะต้องแข่งขันกับ IPP ในโรงไฟฟ้าหลัก รวม 1,700 เมกะวัตต์ ในส่วนของโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐภาคใต้ นั้น จะมีเข้าระบบจำนวน 120 เมกะวัตต์ ในปี 2564-2565
ส่วนภูมิภาคอื่นๆที่น่าสนใจคือ ภาคตะวันตก จะเปิดให้ IPP แข่งขันกับ กฟผ. เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าหลัก เพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2566 และ2567 กำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ ซึ่งหมายความว่า ในปี 2562 กระทรวงพลังงานจะต้องมีความชัดเจนเรื่องนโยบายการซื้อไฟฟ้าในส่วนนี้
ส่วนภาคตะวันออก ที่มีกำลังการผลิตสำรองมากกว่าความต้องการใช้ในสัดส่วนที่สูงนั้น มีแผนที่จะให้ IPP แข่งขันกับ กฟผ.สร้างโรงไฟฟ้า เพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2576 จำนวน 1,000 เมกะวัตต์ และปี 2580 อีก 700 เมกะวัตต์ และภาคกลางตอนบน จะเปิดให้ IPP แข่งกับ กฟผ. ในส่วนของโรงไฟฟ้าหลัก จำนวน 1,400 เมกะวัตต์ เพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2575 ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ IPP จะแข่งขันกับ กฟผ.ในส่วนของโรงไฟฟ้าหลัก ที่จะเข้าระบบปี 2573 จำนวน 700 เมกะวัตต์ ปี 2575 จำนวน 700 เมกะวัตต์
สำหรับการซื้อไฟฟ้าต่างประเทศเพื่อเสริมความมั่นคงให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเข้าระบบตั้งแต่ปี 2569, 2571, 2575, 2576 และ 2578 จำนวนปีละ 700 เมกะวัตต์ รวม 3,500 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ ในร่างแผน PDP2018 ระบุถึงการพิจารณาจัดสรรโรงไฟฟ้าหลัก เพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในแต่ละภูมิภาค เพื่อเป็นการใช้ศักยภาพเชื้อเพลิงและโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ในแต่ละภาคเพื่อลดการลงทุนเพิ่มเติม และให้มีช่องว่างสำหรับการเปิดตลาดแข่งขันจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆในอนาคตอย่างเหมาะสม โดยไม่เพิ่มภาระข้อผูกพันกับโรงไฟฟ้าหลักในระยะยาว และคำนึงถึงความเสี่ยงที่จะเกิดจาก Disruptive Technology ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนระหว่างโรงไฟฟ้าหลักและโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน อันจะเป็นภาระต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน การเพิ่มโรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่เขตนครหลวง เพื่อลดการพึ่งพากำลังผลิตไฟฟ้าจากภาคอื่นๆ
PDP2018 มีการคำนึงถึงสัดส่วนโรงไฟฟ้าจากแผนพัฒนาพลังงานทดแทน หรือ AEDP และแผนอนุรักษ์พลังงาน หรือ EEP แล้ว และยังให้เป็นผู้รักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า PDP2018 ไม่ได้มีการระบุถึงค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยที่จะเกิดขึ้น จากการจัดสรรโรงไฟฟ้าต่างๆเข้าสู่ระบบเพื่อรองรับความต้องการใช้ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ต่างจากในแผน PDP2015 ที่มีการระบุไว้
ที่มา Energy News center https://bit.ly/2F5dLdU