เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัดยื่นจดหมายถึง รมว.พลังงาน-ร้องทบทวนการนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศในแผนพีดีพี 2024 ชี้เพิ่มภาระต้นทุนค่าไฟ ย้ำปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรง 

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2567  ตัวแทนเครือข่ายประชาชนไทย 9 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ส่งจดหมายถึงรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานให้ทบทวนการนำเข้าพลังงานไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านอีก 3,500 เมกะวัตต์ในอีก10 ปีข้างหน้า และพิจารณาและแก้ไขกระบวนการรับฟังความคิดเห็นกรณีแผนPDP2024 อาจเข้าข่ายการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 58 และกระบวนขัดต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548

เนื้อหาในจดหมายระบุว่า ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ได้กำหนดให้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ ร่างแผนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567 – 2580 (หรือแผนพีดีพี PDP 2024) และร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2567 – 2580 (หรือ ก๊าซแพลน Gas Plan 2024) ในช่วงระหว่างวันที่ 12 – 23 มิถุนายน 2567 ตามที่ประกาศในเว็ปไซด์นั้น ในนามเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัด ใคร่ขอให้รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ได้พิจารณาทบทวนและแก้ไขกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นคือ กระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อแผนพีดีพี และก๊าซแพลน ของ สนพ. นั้น เข้าข่ายเป็นการกระทำที่ขัดกับมาตรา 58 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เนื่องจากไม่มีประกาศรับฟังความคิดเห็นอย่างเป็นทางการ ไม่แสดงรายละเอียดของระยะเวลาและสถานที่จัดรับฟังความคิดเห็นแบบออนไซต์ และไม่มีรายละเอียดของแผนพีดีพี – ก๊าซแพลน ที่จะรับฟังความคิดเห็น , การกำหนดระยะเวลาการรับฟังความคิดเห็นที่น้อยกว่า 15 วัน เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 ข้อ 7, 9 และ 11 

นายมนตรี จันทวงศ์ เครือข่ายภาคประชาชนระบุว่า ร่างแผนพีดีพี 2024 ได้กำหนดรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศในปี 2578, 2579 และ 2580 จำนวนรวม 3,500 เมกะวัตต์ นอกเหนือจากการรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศที่มีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ามาก่อนหน้านี้แล้ว จะส่งผลให้ในร่างแผนพีดีพี 2024 จะมีปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศสูงถึง 10,295 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนดัชนีความมั่นคงไฟฟ้า จากการตั้งปริมาณไฟฟ้าสำรอง เป็นดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (Loss of Load Expectation) เป็นเกณฑ์ที่ใช้วัดระดับความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ที่จะเกิดไฟฟ้าดับในแต่ละช่วงเวลาตลอด 1 ปี ไม่เกิน 0.7 วันต่อปี ซึ่งเป็นไปตามผลการศึกษาโดย สนพ. และ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโครงการศึกษาปรับปรุงเกณฑ์กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองสำหรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 

นอกจากนี้ยังเป็นการกำหนดไปโดยหน่วยงาน ยังไม่ได้นำมารับฟังความเห็นโดยทั่วไป อย่างไรก็ตาม รายงานโครงการศึกษาปรับปรุงเกณฑ์กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองฯ นี้ ได้ระบุข้อจำกัดและความเสี่ยงที่สำคัญ จากการรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศไว้ กล่าวคือ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของโอกาสเกิดไฟฟ้าดับนั้น มีผลมาจากการเริ่มมีการนำเข้าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่องทุกปีตั้งแต่ปี 2026 (พ.ศ.2569) จนถึงปี 2036 (พ.ศ. 2579) ในกรณีที่มีการเปลี่ยนการนำเข้าโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศจำนวนหนึ่ง เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่มีขนาดกำลังผลิตติดตั้งเท่ากัน จะสามารถลดโอกาสเกิดไฟฟ้าดับจากระบบผลิตลงได้ 

“เมื่อพิจารณาความเหมาะสมของเกณฑ์กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของ ประเทศไทยภายใต้สมมติฐานของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับปัจจุบันแล้ว จะพบว่า หากยังมีความจำเป็นต้องนำเข้าโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศในปริมาณเท่าเดิม ระดับกำลังผลิตสำรองเป้าหมายที่ ร้อยละ 15 จะมีความไม่เหมาะสม เนื่องจากการวางแผนพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเกณฑ์ดังกล่าว ทำให้ระบบผลิตไฟฟ้ามีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับเกินเกณฑ์ 1 วันต่อปี”นายมนตรี กล่าว

นายมนตรีกล่าวว่า หากต้องการจะรักษาระดับความเชื่อถือได้ให้อยู่ในเกณฑ์ มาตรฐานจะต้องเพิ่มระดับกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองขึ้น หรือไม่เช่นนั้น ก็ต้องลดปริมาณการนำเข้าโรงไฟฟ้าพลังน้ำลงและเปลี่ยนไปใช้โรงไฟฟ้าพลังความร้อนหรือพลังความร้อนร่วมที่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตลอดเวลามากขึ้น 

นายชาญณรงค์ วงศ์ลา ตัวแทนกลุ่มฮักเชียงคาน กล่าวว่า นับตั้งแต่เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงสายหลักที่ดำเนินการอยู่เช่น เขื่อนไซยะบุรี ได้สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขง และวิถีชีวิตของชุมชน ตามที่ปรากฎในสื่อมวลชนและการศึกษาวิจัยต่าง ๆ อาทิ การลดลงของตะกอนแม่น้ำโขงอย่างมีนัยยะสำคัญ จนทำให้น้ำโขงใสเป็นสีคราม การระบาดของสาหร่ายและหอยแมลงภู่เล็กหรือหอยรกควาย ในแม่น้ำโขง จนชุมชนไม่สามารถจับปลาได้ น้ำโขงใสส่งผลต่อเนื่องต่อการกัดเซาะตะกอนในแม่น้ำ ส่งผลให้ไม้น้ำเช่น ต้นไคร้น้ำตายลงเป็น จำนวนมากและเกิดการเปลี่ยนแปลงสันดอนและร่องน้ำ แต่ยังมีเขื่อนที่ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้วในปีที่ผ่านมาคือ เขื่อนหลวงพระบาง, เขื่อนปากลายและเขื่อนปากแบ่ง จะจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบในปี 2573, 2575 และ 2576 ตามลำดับนั้น ยิ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงและชุมชนให้ทับทวีคูณมากขึ้น ดังนั้น เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัด จึงไม่เห็นด้วยต่อ ร่างแผนพีดีพี 2024 ที่จะรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำใหม่อีก 3,500 เมกะวัตต์ และใคร่ขอให้ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้พิจารณาทบทวน 

More to explorer

จดหมายเรียกร้องธนาคารผู้ให้สินเชื่อเขื่อนไซยะบุรี ติดตามบริษัทให้เปิดเผยความคืบหน้ารายงานมาตรการลดผลกระทบด้านการประมง การฟื้นฟูชีวิตและเศรษฐกิจของผู้อพยพโยกย้ายและแผนบรรเทาภาวะฉุกเฉินจากการบริหารจัดการเขื่อนไซยะบุรี

ขั้นตอนปรับแบบ-การศึกษาผลกระทบสุดท้ายใกล้แล้วเสร็จ เดินหน้าสร้างเขื่อนปากแบงกั้นโขง นักสิ่งแวดล้อมติงยังไม่ชัดเจนแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน-น้ำเท้อหรือไม่ แนะธนาคารปล่อยสินเชื่อพิจารณาให้รอบคอบ MRC จัดประชุมเตรียมทำแอพพลิเคชั่นรายงานสถานการณ์แม่น้ำโขง