เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 ภายหลังจากที่สื่อมวลชนหลายสำนักรายงานว่าบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ได้มีหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่าในวันที่ 20 มีนาคม 2566 บริษัท Pak Lay Power Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่ GULF และ SHK Sinohydro บริษัทในเครือ POWERCHINA รัฐวิสาหกิจของจีนซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Pak Lay หรือโครงการเขื่อนปากลาย ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement-PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการลงนามในครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง
ทั้งนี้โครงการสร้างเขื่อนปากลายกั้นแม่น้ำโขงมีขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 770 เมกะวัตต์ โดย GULF ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 40 และ SHK ถือหุ้นร้อยละ 60 โดยมีระยะเวลาสัญญา 29 ปี อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 2.6989 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง มีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในวันที่ 1 มกราคม 2575 โดยจะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงที่แขวงไซยะบุรี ประเทศลาว ห่างจากพรมแดนไทยลาว ที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ไปทางเหนือราว 100 กิโลเมตร ทำให้ชาวบ้านริมแม่น้ำโขงในภาคอีสานของไทยรู้สึกมีความกังวลอย่างยิ่งต่อผลกระทบข้ามพรมแดนที่กำลังจะเกิดขึ้น
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าววถึงการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในครั้งนี้ว่า รู้สึกผิดหวังอย่างมากกับการทิ้งทวนก่อนยุบสภาของรัฐบาลนี้ ตลอดระยะเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมาภาคประชาชนได้ทักท้วงตั้งแต่เริ่มกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และกระบวนการ PNPCA ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง โดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง Mekong River Commission (MRC) ของทั้ง 2 โครงการเขื่อน และได้ส่งหนังสือทักท้วงไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง อาทิ รัฐบาล นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ประธานกรรมการพลังงานแห่งชาติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ. ) และยังร้องเรียนไปยังคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ในสภาผู้แทนราษฎร ในประเด็นที่ประเทศไทยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบเซ็น PPA ซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศในช่วงระยะเวลา 10 ปีนี้ และขณะที่ประเทศไทยมีไฟฟ้าสำรองเกินกว่า 50% ไปมากแล้ว ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ไฟฟ้าของไทยมีราคาแพงขึ้นอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อประชาชนไทยทุกคน เป็นภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนระยะยาว
“ผมรู้สึกผิดหวังจริง ๆ กับรัฐบาลนี้ ที่ทิ้งทวนสร้างภาระค่าไฟฟ้าให้ประชาชนอีก การซื้อไฟฟ้าเพิ่มจาก 2 เขื่อนคือเขื่อนปากลายและเขื่อนหลวงพระบาง บนแม่น้ำโขง สะท้อนให้เกิดคำถามว่า ใช่หรือไม่ที่รัฐบาลนี้หนุนและเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจพลังงาน จนละเลยภาระการดูแลค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรจะดูแลและควบคุม เมื่อเกิดสถานการณ์ค่าไฟฟ้าแพงสูงสุดในรัฐบาลนี้ และสะท้อนให้เห็นว่าการมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน การมีกรรมการด้านนโยบายที่ดูเรื่องพลังพลังที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ไม่ได้สนใจข้อทักท้วงของภาคประชาและฝ่ายต่างๆ ไม่ปกป้องผลประโยชน์ประชาชนแม้แต่น้อย เป็นเรื่องที่น่าผิดหวังอย่างยิ่ง ที่ผ่านมาภาคประชาชนได้ติดตามข้อมูล รณรงค์และทักท้วงตามกระบวนการแล้วทุกขั้นตอนแล้ว” นายหาญณรงค์กล่าว
นายหาญณรงค์กล่าวว่า ขอเรียกร้องไปยังหน่วยงานอีกครั้งว่า ต้องทบทวนการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และชะลอหรือยกเลิก PPA ทั้ง 2 โครงการ และควรมีนโยบายดูแลประชาชน ไม่อุ้มธุรกิจพลังงาน และยกสัญญาที่ผูกมัด เพื่อมิให้เป็นภาระค่าไฟฟ้าของประชาชน
น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล อดีต ส.ส.พรรคก้าวไกล และอดีตประธานกมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่ารู้สึกว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นแน่ๆ ในการลงนามซื้อขายไฟครั้งนี้ เพราะที่ผ่านมา กมธ.พยายามทักท้วงมาโดยตลอดว่าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ที่ควรออกมาตั้งแต่ปี 2565 แต่ขณะนี้ก็ยังไม่ออก เราได้โต้แย้งทั้ง กฟผ.และกระทรวงพลังงาน เพื่อให้กำลังการผลิตไฟฟ้าสอดคล้องกับแผนใหม่ซึ่ง PDP ก็ยังไม่คลอด แต่กลับไม่รอแผนใหญ่และชิงลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเขื่อนแม่น้ำโขงทั้งๆ ที่มีเสียงต่อต้าน เพราะไฟฟ้าสำรองของไทยมีอยู่ล้นระบบ ทำไมจึงต้องทำสัญญาซื้อขายเพิ่ม
“สุดท้ายเขาก็ชิงลงนามกันในช่วงที่กำลังยุบสภาและแผน PDP ตัวใหม่ก็ยังไม่ออก แสดงพิรุธบางอย่างเพราะที่เร่งรีบ ถ้านโยบายนี้สอดคล้องกับแผน ทุกอย่างก็ไม่มีความจำเป็นต้องรีบร้อน สุดท้ายคำตอบที่จะให้ชาวบ้านในลุ่มน้ำโขง ว่าจะเยียวยาเขาอย่างไร ชีวิตเขาจะเปลี่ยนอย่างไร ก็ยังไม่มีคำตอบ กมธ.ได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้ชะลอ แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
อนึ่งก่อนหน้านี้ กฟผ. ได้มีหนังสือลงวันที่ 8 มีนาคม ถึงเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง เรื่องชี้แจงเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขง มีเนื้อหาสำคัญส่วนหนึ่งระบุว่า ตามที่เครือข่ายฯมีหนังสือถึงกฟผ. เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับ 1.สถานะของการทำสัญญาและลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโครงการปากแบง ปากลาย และหลวงพระบาง 2. ข้อมูลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน การเยียวยา และการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดนนั้น กฟผ.ชี้แจงดังนี้ ข้อ 1 สถานะของการทำสัญญา โครงการหลวงพระบาง ลงนามสัญญาฯ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 ข้อ 2 การศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน โครงการปากแบงและปากลาย ได้จัดทำรายงานฯ โดยบริษัท National Consulting Group ในปี 2558 และ 2563 (ตามลำดับ) และอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนเพิ่มเติมโดยบริษัท TEAM Consulting Engineering
ทั้งนี้เว็บไซต์ของ กฟผ. ระบุข้อมูลสถิติว่า ณ วันที่ 31 มกราคม 2566 กำลังผลิตรวมทั้งระบบ 49,114.80 เมกะวัตต์ สำหรับความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดระบบเดือนมกราคมเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566 มีค่าเท่ากับ 25,895.60 เมกะวัตต์ ลดลงจากเดือนที่ผ่านมา 1,229.10 เมกะวัตต์ หรือลดลงร้อยละ 4.53
ที่มา https://transbordernews.in.th/home/?p=33594