วันที่ 26 กรกฎาคม 2562 ณ ศาลปกครองสูงสุด ถนนแจ้งวัฒนะ นางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า นางสาวเฉลิมศรี ประเสิรฐศรี ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดี และนายชาญณรงค์ วงศ์ลา ผู้ฟ้องคดี ตัวแทนเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยขอให้ดำเนินการระงับ หรือชะลอการรับซื้อไฟฟ้าอันเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนโครงการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี ที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ลงนามทำสัญญาซื้อไฟฟ้า กับบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์
นส.เฉลิมศรี ทนายความ กล่าวว่าคดีนี้ เกิดจากวิกฤติน้ำโขงเหือดแห้งกระทันหันในช่วงเดือนนี้ โดยเฉพาะในเขตพรมแดนไทยลาว ท้ายน้ำจากโครงการเขื่อนไซยะบุรี ทำให้ประชาชนไทยที่อาศัยในชุมชนริมโขง ใน จ.เลย หนองคาย และจังหวัดภาคอีสานอื่นๆ ที่ติดลำน้ำโขงได้รับผลกระทบ โดยในคำฟ้องระบุว่า เมื่อโครงการเขื่อนไซยะบุรีสร้างเสร็จแล้วจะปล่อยน้ำไหลผ่านในแต่ละวันเท่ากับปริมาณน้ำที่ไหลเข้า โดยไม่มีการกักเก็บน้ำไว้ ดังนั้นน้ำในลุ่มน้ำโขงจะเป็นปกติตลอดทั้งปี แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม พบว่าระดับน้ำท้ายน้ำจากเขื่อนลดลงอย่างกระทันทัน และส่งผลกระทบต่อ ปลา สัตว์น้ำ ระบบนิเวศ พืช และระบบประปาที่สูบน้ำโดยตรงจากแม่น้ำโขง พบว่าเมื่อมีประกาศว่ามีการดำเนินการทดลองผลิตไฟฟ้า ก็เกิดเหตุการณ์ปลาแห้งตายตามแก่ง แพสูน้ำประปาค้างริมตลิ่ง เรือค้างตามหาด
“ในคำร้องนี้ จึงระบุว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ลดลงอย่างเฉียบพลัน เป็นผลโดยตรงจากการการกักเก็บน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าของเขื่อนไซยะบุรี อันเนื่องมาจากผู้ถูกฟ้องคดีที่1 (กฟผ.) เริ่มรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการไซยะบุรีมาตั้งแต่เดือนเมษายน ทั้งๆ ที่เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันไฟฟ้าสำรองในประเทศไทยมีปริมาณมาก แต่กลับขายส่งให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน จึงไม่ได้เป็นไปเพื่อส่งเสริมสาธารณูปโภคของประเทศอันเป็นประโยชน์สาธารณะอีกต่อไป อีกทั้งการรับซื้อไฟฟ้าล่วงหน้าก่อนที่กำหนดที่ระบุในสัญญารับซื้อไฟฟ้าดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ทั้งๆ ที่สัญญากำหนดให้รับซื้อในเดือนตุลาคม ยังส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญของภูมิภาคนี้ย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ทนายความกล่าว
ทนายความยังกล่าวอีกว่า หากเขื่อนไซยะบุรีดำเนินการเต็มรุปแบบในเดือนตุลาคม ย่อมก่อให้เกิดความผันผวนและผกระทบรุนแรงอย่างมโหฬารต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่อผู้ฟ้องคดี และประชานในพื้นที่ ดังนั้นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจนมิอาจหลีกเลี่ยงได้
นายชาญณรงค์ วงศ์ลา ประชาชนจาก อ.เชียงคาน จ.เลย กล่าวว่า ตนเองได้เริ่มฟ้องคดีนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2555 และขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจาณาของศาลปกครองสูงสุด ผลกระทบได้เกิดขึ้นเป็นเชิงประจักษ์ นับตั้งแต่มีการทดลองผลิตไฟฟ้าจากเขื่อน โดยเฉพาะในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งหลังจากทางการลาวประกาศว่ามีการทดลองผลิตไฟฟ้ายูนิตที่ 5 แต่ประชาชนไม่ทราบข้อมูลใดๆ
“หวังว่าศาลจะพิจารณาคำร้อง มีคำสั่งคุ้มครอง เพื่อหามาตรการบรรเทาผลกระทบ ด้วยการชะลอการรับซื้อไฟฟ้า และหาทางออกแก่แม่น้ำโขงและประชาชนในทันที”
อนึ่งคดีไซยะบุรี ที่ศาลปกครองเริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ โดยคดีครั้งแรกคือ เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐไทย อาทิ กฟผ. ซึ่งศาลปกครองสูงสุดรับฟ้อง ในเรื่องการปฏิบัติกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ การเผยแพร่ข้อมูลและการรับฟังความคิดเห็น การประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน