เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ดร.ลอบแซง ยางซู นักสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนสตรีชาวทิเบต ให้สัมภาษณ์ถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งต่อที่ราบสูงทิเบตว่า ผลกระทบรุนแรงกว่าพื้นที่อื่นทั่วโลกถึง 3 เท่า อุณภูมิสูงทำให้ธารน้ำแข็งละลายเร็ว ขณะที่ที่ราบสูงทิเบต-เทือกเขาหิมาลัย เป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญในภูมิภาคเอเชีย อาทิแม่น้ำแยงซี แม่น้ำโขง แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำอิรวดี แม่น้ำพรมบุตร แม่น้ำสินธุ ฯลฯ ปริมาณน้ำที่มาจากธารน้ำแข็งที่ราบสูงทิเบตคิดเป็นปริมาณ 40% ของแม่น้ำเหล่านี้
“อะไรที่เกิดขึ้นในทิเบตย่อมกระทบคนที่อยู่ท้ายน้ำ ดังนั้นการมีองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานข้ามพรมแดน เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมและความโปร่งใส ประชาชนในทิเบตต้องการการสนับสนุนจากภายนอก” ดร.ลอบแซง กล่าว
นักสิ่งแวดล้อมชาวทิเบต กล่าวว่ามีงานวิจัยระบุว่าอีก 30 ปีหลังจากนี้ แม่น้ำจากเทือกเขาหิมาลัยจะกลายเป็นเพียงแม่น้ำตามฤดูกาลเท่านั้น หิมะละลายแต่จะไม่เป็นธารน้ำแข็งได้แล้ว โดยธารน้ำแข็งจะค่อยๆ หายไปในอนาคตอันใกล้ ธารน้ำแข็งจะมีแค่ในหน้าหนาว อุณภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ธารน้ำแข็งเล็กๆ ละลายไวมาก
“สภาพการเปลี่ยนแปลงที่พบปัจจุบันคือ ทิเบตมีทะเลสาบเพิ่มเพราะธารน้ำแข็งละลาย และท่วมพื้นที่ทำกิน เกิดปัญหา ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าขณะนี้ปัญหามาแล้ว ในอนาคตถ้าไม่มีธารน้ำแข็งจะลำบากมาก ฉะนั้นในกรณีแม่น้ำโขง หากประเทศต่างๆ ยังสร้างเขื่อน และเพิกเฉยต่อสถานการณ์ต้นน้ำ จีนเองก็สร้างเขื่อนกักน้ำไว้ ถ้าแม่น้ำมีน้ำแค่บางฤดู ท้ายน้ำจะเป็นอย่างไร” ดร.ลอบแซงกล่าว
ดร.ลอบแซงกล่าวอีกวว่า หากธารน้ำแข็งละลายไวมาก และไหลลงเร็ว เป็นไปได้ที่จะมีการทะลักที่ธารน้ำแข็งละลายมารวมกัน น้ำท่วมฉับพลัน ดินถล่ม ซึ่งคาดการณ์ได้ยาก ฝนตกมีแต่ปริมาณน้อย ฝนน้อยลงในหน้าแล้ง แต่หากฝนหนักขึ้นอุณหภูมิสูง เสี่ยงแผ่นดินไหว น้ำท่วมเกิดขึ้นบ่อยมาก อย่างไรก็ตามบ้านของชาวทิเบตสร้างจากไม้และดิน วัสดุธรรมชาติ ยืดหยุ่นกว่าตึกสมัยใหม่ที่สร้างด้วยคอนกรีต ที่เสี่ยงกว่า
ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 4-6 มิถุนายน 2567 ที่โรงแรมเฮอริเทจ จ.เชียงราย องค์กร Oxfam องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) และพันธมิตร ได้ร่วมจัดประชุมผู้หญิงกับแม่น้ำแห่งเอเชีย (Asia Women and Rivers Congress) ครั้งที่ 2 โดยมีบรรดาผู้หญิงซึ่งเป็นผู้นำ ชนเผ่าพื้นเมือง สมาชิกชุมชน นักวิจัย เยาวชน ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ผู้กำหนดนโยบาย และนักข่าว จำนวนทั้งสิ้น 125 คนจาก 18 ประเทศ ร่วมหารือแลกเปลี่ยนบทบาทพื้นฐานของผู้หญิงที่ปกป้องดูแลทรัพยากรน้ำ รวมทั้งเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศที่ต้องเผชิญ ความท้าทายที่เกี่ยวกับน้ำ พลังงาน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ภายหลังประชุมได้ออกแถลงการณ์ร่วม มีเนื้อหาสำคัญว่า นักปกป้องสิ่งแวดล้อมหญิงกำลังเผชิญกับการคุกคามและความรุนแรง เราขอเรียกร้องให้รัฐบาล บริษัท และประชาคมระหว่างประเทศดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อปกป้องบทบาทของเราในฐานะผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อมของผืนน้ำ ผืนดิน ตลอดจนความรู้และแนวปฏิบัติแบบดั้งเดิม การต่อสู้ของเราจะยังคงดำเนินต่อไปเพื่อสิทธิในน้ำ อธิปไตยทางอาหาร ความอยู่รอดทางวัฒนธรรม และโลกที่น่าอยู่สำหรับทุกคน
“เราเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงระดับฐานรากอย่างเร่งด่วนที่เคารพชนเผ่าพื้นเมืองและสิทธิสตรี นักปกป้องสิ่งแวดล้อม รวมทั้งบทบาทที่สำคัญของพวกเธอในการจัดการทรัพยากรชุมชน และเราต้องการให้รัฐบาล ภาคเอกชน และสถาบันการเงินระหว่างประเทศแสดงความรับผิดชอบและชดเชยความสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้น แม่น้ำที่ไหลอย่างอิสระและอุดมสมบูรณ์เป็นเส้นเลือดสำคัญของการฟื้นตัวทางนิเวศวิทยาและวัฒนธรรม อนาคตของเรานั้นขึ้นอยู่กับการตระหนักถึงการเข้าถึงและการตัดสินใจที่เท่าเทียมกันของผู้หญิงในทุกด้าน รวมทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม การรวมตัวกันของผู้หญิงจากพื้นที่ต้นน้ำสู่ทะเลจะทำให้เราแข็งแกร่งมากขึ้น” แถลงการณ์ระบุ
ขณะที่ น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ภูมิภาค International Rivers กล่าวว่าในระหว่างการประชุม ตนได้นำเสนอสถานการณ์ลุ่มน้ำโขง-สาละวิน ซึ่งแม่น้ำโขงเกิดความเสียหายทางนิเวศวิทยาอย่างหนักเนื่องจากปัจจัยหลักคือการสร้างเขื่อนแล้วถึง 12 เขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนบนในจีนและชายแดนทิเบต แม้จีนจะมีการให้ข้อมูลอุทกวิทยาแก่ประเทศท้ายน้ำ ผ่านกลไกของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) แต่จำเป็นต้องมีการหารือเพื่อให้บริหารน้ำร่วมกัน เขื่อนตอนบนต้องคำนึงถึงประชาชนและธรรมชาติท้ายน้ำด้วย นอกจากนี้ไทยยังได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มกับโครงการเขื่อน 3 แห่งในลาว ผูกพันยาวนานถึง 29-35 ปี ซึ่งผู้เสียหายคือผู้ใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยทุกคน ในขณะที่ผลกระทบข้ามพรมแดนยังไม่มีการศึกษาอย่างชัดเจน
“การประชุมครั้งนี้เห็นความสัมพันธ์ของผู้เข้าร่วมประชุมจากลุ่มน้ำต่างๆ ที่ได้มาพบกัน แลกเปลี่ยนกันอย่างมีไมตรี ทั้งนักสิทธิมนุษยชนจากลุ่มน้ำสาละวินในรัฐฉาน กลุ่มสตรีที่ฟื้นฟูแม่น้ำในบังคลาเทศ เยาวชนคนรุ่นใหม่ชาติพันธุ์เล็ปชาจากสิกขิม ที่รักษาแม่น้ำชายแดนอินเดีย-เนปาล และจากภูฏาน ฯลฯ เป็นบรรยากาศที่อบอุ่นและมีการเรียนรู้ที่มีคุณค่ามาก” นส.เพียรพร กล่าว