ขั้นตอนปรับแบบ-การศึกษาผลกระทบสุดท้ายใกล้แล้วเสร็จ เดินหน้าสร้างเขื่อนปากแบงกั้นโขง นักสิ่งแวดล้อมติงยังไม่ชัดเจนแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน-น้ำเท้อหรือไม่ แนะธนาคารปล่อยสินเชื่อพิจารณาให้รอบคอบ MRC จัดประชุมเตรียมทำแอพพลิเคชั่นรายงานสถานการณ์แม่น้ำโขง

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรมแลนด์มาร์ค นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission- MRC) ได้จัดประชุม เวทีแบ่งปันข้อมูลเพื่อความโปร่งใสและเชื่อถือได้ผู้ส่วนได้ส่วนเสียในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 14 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 4 ประเทศกว่า 150 คน ทั้งจากหน่วยงานรัฐ เอกชน ผู้พัฒนาโครงการ และตัวแทนจากชุมชนลุ่มน้ำโขงจำนวนหนึ่ง

ทั้งนี้ในช่วงบ่ายได้มีการนำเสนอโครงการเขื่อนปากแบง (Pak Beng dam) โดยนายวรวิทย์ ผดุงศรีบวร ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่านธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ บริษัทปากแบงพาวเวอร์ กล่าวว่า เจ้าของโครงการ คือบริษัทปากแบงพาวเวอร์ ผู้พัฒนาโครงการคือ บริษัทไชน่าต้าถัง และ Gulf เอ็นเนอร์จี มีกำลังผลิตติดตั้ง 912 เมกะวัตต์ (MW) ส่งไฟฟ้าที่ชายแดนไทย จ.น่าน 897 MW เขื่อนตั้งอยู่ที่แขวงอุดมไซ ตอนบนมีเขื่อนจิงหง และล่างลงไปคือโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ตัวเขื่อนห่างจากชายแดนไทย (ที่อำเภอเวียงแก่น จ.เชียงราย) 70 กม. ได้ร่วมกับ Gulf  ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับกฟผ. เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566

ผู้แทนโครงการปากแบงกล่าวอีกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนสุดท้ายของการปรับแบบและศึกษาผลกระทบ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม (ESIA) ที่มีความห่วงกังวล ที่บริษัทได้มีการปรับการศึกษาเพิ่มเติมตามมาตรฐาน IFC Standard และ Equator Principles โดยบริษัท TEAM อนุมัติเมื่อมีนาคม ขณะนี้กำลังปิดการศึกษาจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อนำเสนอให้กับ กฟผ.ดำเนินตามขั้นตอนต่อไป คาดว่าจะสรุปได้ในเดือนพฤศจิกายน และจะได้รับการสนับสนุนจากแหล่งเงินทุน การปรับแบบ ข้อมูลอุทกวิทยาเป็นข้อมูลปัจจุบันแล้ว ได้ปรับข้อมูลน้ำท่วมเป็น 2,000 ปี โดยมีการปรับระดับความสูงสันเขื่อนเพิ่มขึ้น 3 เมตร จากเดิม 64 เมตร เป็น 67 เมตร หรือ จากสูง 345 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) เป็น 349 ม.รทก. เพื่อความคงทนของตัวเขื่อน ส่วนระดับการกักน้ำยังเท่าเดิม ที่ 340 ม.รทก.ในฤดูน้ำหลาก และ 335 ม.รทก.ในฤดูแล้ง

ผู้แทนบริษัทปากแบงกล่าวว่า การเพิ่มระบบระบายตะกอนมีการเพิ่มเติมโครงสร้างเป็นประตู radial และประตูเพื่อการระบายตะกอน เพิ่มทางปลาผ่านแบบลาด หลังจากนี้จะมีการปรับเพิ่มเติมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านปลา โดยแบบเขื่อนปัจจุบันจะมีระบบให้ปลาอพยพขึ้นลงได้หลายช่องทาง สำหรับแผนปฏิบัติการร่วม (JAP) ของ MRC มีประเด็นอุทกวิทยา น้ำเท้อ การศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน บริษัทได้ทำงานกับ TEAM ศึกษาจากแก่งผาได ถึง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ในกรณีปกติและกรณีน้ำท่วม การศึกษาเรื่องการลดผลกระทบเราได้ศึกษาการคาดการณ์อุทกวิทยา ปริมาณตะกอน มีการติดตั้งสถานีติดตามข้อมูล สำหรับผลกระทบข้ามพรมแดนมีการว่าจ้างที่ปรึกษาทำการศึกษาตามเงื่อนไขของ กฟผ. และสถาบันการเงินผู้ให้สินเชื่อ ทั้งนี้การจัดการระบายตะกอนจะมีการประสานงานกับเขื่อนอื่นๆ ผ่านรัฐบาลลาว

ก่อนหน้านี้ในช่วงเช้า นายจันทะเนต บัวลาพา รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว และ ดร.อนุรักษ์ กิตติคุณ เลขาธิการ MRC ร่วมเปิดการประชุม โดยนายจันทะเนต กล่าวว่า การประชุมครั้งที่ 14 เริ่มด้วยการนำเสนอสถานการณ์ลุ่มน้ำโขงปี 2023 (The Mekong State Of the Basin Report :SOBR) และฐานข้อมูลสังคม โดยเอกสารฉบับนี้จะทำทุก 5 ปี มีเนื้อหาครอบคลุมเรื่อง สิ่งแวดล้อม สังคม-เศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกลุ่มผู้ประกอบการ นอกจากนี้จะเป็นข้อมูลให้แก่ผู้มีอำนาจการตัดสินใจ ก็ได้ให้ประชาชน มีความรู้ ข้อมูลปัจจุบัน ในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติที่ล้ำค่า เพื่อหาแนวทางการทำงานร่วมมือและพัฒนาร่วมกันอย่างไร และมีการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกของบางโครงการในแม่น้ำโขงที่ประชาชนมีความกังวล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงอภิปราย มีผู้เข้าร่วมแสดงความเห็นว่าจะทำงานร่วมมือกันอย่างไรในการพัฒนาร่วมกัน นำเสนอข้อมูลเชิงลึกในบางโครงการ ที่มีอิทธิพลโดยตรงและโดยอ้อมต่อชุมชน ประชาชนตลอดลุ่มน้ำ กังวล ความไว้วางใจ ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยยึดแนวทางความโปร่งใส และสร้างความเชื่อถือได้มากขึ้น

ในการประชุมได้มีการนำเสนอแอพพลิเคชั่น  “One Mekong Mobile” บนโทรศัพท์มือถือ ที่รายงานสถานการณ์แบบเรียลไทม์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับชุมชนลุ่มน้ำโขง สร้างการมีส่วนร่วมจากชุมชนลุ่มน้ำโขงในการรายงานจากพื้นที่

ดร.อนุรักษ์ กล่าวว่าข้อกังวลสถานการณ์ในพื้นที่ประเทศกัมพูชา เกี่ยวกับผลกระทบข้ามแดนที่แม่น้ำเซซาน และ จ.รัตนคีรี ทำให้จับปลาไม่ได้ ขณะที่แม่น้ำเซรปก ยังมีปลาให้จับได้ รวมถึงปัญหาในประเทศเวียดนาม จากการพัฒนามา 10 ปี เราพยายามปรับปรุงรูปแบบที่รับมือกับปัญหาภัยแล้งและการเก็บกักน้ำ อย่างไรก็ตาม แม่น้ำโขงมีการจัดการบริหารมากขึ้น แต่ไม่ใช่ทั้งลุ่มน้ำ

นายสันติ บารัน หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ และหุ้นส่วน (ประเทศผู้สนับสนุน) MRC กล่าวว่า ขณะนี้แอพพลิเคชั่นอยู่ระหว่างการพัฒนา คาดว่าจะสามารถใช้ได้ประมาณเดือนกรกฎาคมหากได้รับความเห็นชอบจากภาคีสมาชิก โดยแอพทราบข้อมูลแบบเรียลไทม์ มีการทำเรียลคลิปวีดีโอรายงานสถานการณ์ก่อน7วันและคาดการณ์หลัง 7 วัน การทำภาคเคลื่อนไหวน้ำท่วม มี I Report โดยเปิดให้คนในพื้นที่รายงานแบบสถานการณ์เรียลไทม์ในพื้นที่ การแจ้งเตือน เป้าหมายคือการพัฒนาเครื่องมือไปสู่การพยากรณ์และรวมทุกอย่างในแอพเดียว และมีการนำปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) มาใช้ในการตอบข้อมูลโดยการพูดคุยกับ “น้องน้ำ” ที่จะตอบคำถามในแอพพลิชั่น ซึ่งก่อนจะนำมาใช้ต้องขอความเห็นชอบจากประเทศสมาชิก และประสานการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากชุมชน เพื่อให้เข้าถึงข้อมูล และเข้าถึงการสื่อสารข้อมูลจากพื้นที่ผ่านแอพ

อย่างไรก็ตาม มีความเห็นจากกลุ่มภาคีที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับแอพนี้ถึงอำนาจการแจ้งเตือน การใช้ข้อมูลขนาดไหน ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ได้มาอย่างไร วิธีการเข้าถึงแอพนี้ของชาวบ้านในชุมชน การจะเชื่อมโยงอย่างไรในการเตือนภัยกับหน่วยงานที่มีอยู่แล้ว

นางสาวเพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ภูมิภาค International Rivers กล่าวว่าโครงการเขื่อนปากแบงซึ่งระบุถึงมาตรฐาน IFC Standard และ Equator Principles เป็นมาตรฐานโดยสมัครใจของธนาคารในการปล่อยสินเชื่อโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งหลัก Equator เกิดขึ้นเมื่อพบว่าที่ผ่านมาทั่วโลกโครงการขนาดใหญ่จำนวนมาก ไม่ยั่งยืน แต่กลับก่อความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างรุนแรง ในขณะที่เจ้าของโครงการและธนาคารก็ไม่แสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหาย ซึ่งในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงในลุ่มน้ำโขง กฎหมายสิ่งแวดล้อมและการบังคับใช้ยังล้าหลัง ประชาชนที่จะได้รับผลกระทบไม่ได้ให้ความยินยอมอย่าง “สมัครใจ ล่วงหน้า และได้รับข้อมูลพอเพียง” (free, prior and informed consent หรือ FPIC) ซึ่งเป็นหลักการสากล การระบุว่าทำตามกฎหมายแล้ว ยังไม่เพียงพอในกรณีเขื่อนบนแม่น้ำโขงที่ลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน

 “ในขณะธนาคารกำลังจะให้สินเชื่อแสนล้านโครงการเขื่อนปากแบง ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกฟผ. การันตีรายได้แน่นอน 29 ปี แต่ประชาชนและหน่วยงานรัฐที่ริมโขง ที่ อ.เวียงแกน อ.เชียงของ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ยังไม่ทราบข้อมูลความชัดเจนใดๆ เรื่องผลกระทบข้ามพรมแดน โดยเฉพาะพื้นที่น้ำท่วม จากน้ำเท้อถึงดินแดนของประเทศไทย รวมถึงที่ลุ่มตามลำน้ำสาขาซึ่งเป็นทั้งบ้านเรือนและแปลงเกษตรกรรม โดยเฉพาะส้มโอเวียงแก่นที่มีมูลค่าหลายร้อยล้านบาทต่อปีที่อาจจมอยู่ใต้น้ำอย่างถาวร การปรับแบบเขื่อนปากแบงแล้วแต่ทีมศึกษาได้ลงมาดูพื้นที่จริงหรือไม่ ได้ปรึกษาหารือผู้ได้รับผลกระทบครอบคลุมอย่างไร กระบวนการมีส่วนร่วมเป็นอย่างไร ได้คุยกับใครบ้าง ดิฉันเชื่อว่าความเสียหายจะรุนแรงและกว้างขวาง จะเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมตามมามหาศาล ซึ่งคำถามถือ บริษัทและธนาคารจะรับผิดชอบอย่างไร หากยึดหลักการและมาตรฐานสากล จำเป็นต้องมีข้อมูลที่เชื่อถือได้มายืนยัน” น.ส.เพียรพร กล่าว

More to explorer

สำรวจพื้นที่ 2 โครงการยักษ์เขื่อนกั้นแม่น้ำโขง พบการก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบางคืบหน้าไปมาก-กั้นลำน้ำโขงแล้วเกือบครึ่ง-อพยพชาวบ้านแล้วบางส่วน ชาวบ้านน้ำตาตกวัด-พระพุทธรูปเก่าต้องอยู่ใต้น้ำ ขณะที่เขื่อนปากแบงยังไม่ได้ลงมือก่อสร้างใดๆ นักอนุรักษ์-นักกฎหมายจี้ตอบคำถามผลกระทบข้ามแดน