กฟผ.แจงกรณีเขื่อนปากแบงยังไม่มีการลงนามใด ๆ
นายศานิต นิยมาคม ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์การทำการแทน ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ชี้แจงกรณีนำเสนอข่าว ‘ปากแบง’ ปมร้อนข้ามฝั่งโขง กลุ่มรักษ์เชียงของฟ้อง‘MRC’ ในหนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 9 มิถุนายน 2560 ตามที่หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 9 มิถุนายน 2560 หน้า 6 นำเสนอข่าวเครือข่ายกลุ่มรักษ์เชียงของยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ให้ยกเลิกข้อสรุปจากเวทีรับฟังความคิดเห็นของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยระบุว่ามีการดำเนินการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชะลอการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการนี้ไว้ก่อนนั้น
โดยระบุว่ากฟผ. ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กฟผ. ยังไม่ได้เริ่มเจรจารับซื้อไฟฟ้าและลงนามในสัญญาใด ๆ กับโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง เนื่องจากโครงการดังกล่าวยังไม่ผ่านกระบวนการตามระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement: PNPCA) ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลที่ดำเนินงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านการเจรจาและความร่วมมือภายในกลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ที่มี 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เป็นสมาชิกร่วมกันพิจารณา การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำของแม่น้ำโขง
ทั้งนี้ ภายใต้ระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (ระเบียบปฏิบัติ PNPCA) ดังกล่าวข้างต้น กำหนดให้ประเทศที่จะใช้ทรัพยากรน้ำของแม่น้ำโขงปฏิบัติต้องผ่านกระบวนการที่เป็นกลไกสนับสนุนความร่วมมือระดับภูมิภาคด้านการใช้น้ำ ดังนี้ การแจ้ง ให้ประเทศที่เสนอโครงการ ต้องแจ้งรายละเอียดโครงการกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ ก่อนจะเริ่มใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำของแม่น้ำโขง
การปรึกษาหารือล่วงหน้า เป็นกระบวนการประเมินทางเทคนิคและการหารืออย่างเป็นทางการที่มีระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งประเทศสมาชิกจะประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศและความเป็นอยู่ของผู้คน และเสนอแนะมาตรการรองรับ
การกำหนดข้อตกลง กำหนดให้ต้องมีการเจรจาต่อรองอย่างทั่วถึงเพื่อให้บรรลุความเห็นชอบร่วมกันโดยประเทศสมาชิกทั้งหมด ถึงเงื่อนไขและข้อกำหนดต่อข้อเสนอโครงการ ก่อนจะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำของแม่น้ำโขง
นอกจากนี้ ก่อนที่ กฟผ. จะลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการใด ๆ ได้ ต้องนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาให้ความเห็นชอบในแต่ละโครงการอีกครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง
กฟผ. ขอเรียนข้อมูลดังกล่าวเพิ่มเติมเพื่อให้สังคมไทยได้รับทราบข้อมูลอย่างรอบด้าน หากท่านมีความประสงค์ที่จะรับทราบข้อมูลในประเด็นใด ๆ เพิ่มเติม หรือประสงค์จะส่งข้อมูลให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง กฟผ. จะยินดีเป็นอย่างยิ่ง
ที่มา http://www.komchadluek.net/news/economic/282656?fbclid=IwAR11M-pmT4I8ZGKONnmDgZvz01PW0UZuCAxkLA7HQJsotjxmOXPs6P9yCF0