การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมรับซื้อไฟฟ้า สปป.ลาว 2 โครงการตามสัญญาในปี 2562 ทั้งไซยะบุรี 1,220 เมกะวัตต์ และน้ำเงี๊ยบ 1 จำนวน 269 เมกะวัตต์ ส่วนโครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย ต้องเลื่อนเข้าระบบ ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าให้ไทยได้ทันปี 2562 นี้ จากปัญหาเขื่อนแตกที่ผ่านมา คาดในปี 2562 มีกำลังผลิตไฟฟ้า สปป.ลาว ขายเข้าไทยรวมเกือบ 6,000 เมกะวัตต์ จากกรอบเอ็มโอยู 9,000 เมกะวัตต์ ในขณะที่ แผนPDP2018 กำหนดซื้อไฟฟ้าต่างประเทศ รวม 5,857 เมกะวัตต์
แหล่งข่าวการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า ในปี 2562 ไทยจะรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกัน จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการไซยะบุรี จำนวน 1,220 เมกะวัตต์ 2.โครงการ น้ำเงี๊ยบ 1 จำนวน 269 เมกะวัตต์ และ 3.โครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย 345 เมกะวัตต์ แต่ล่าสุดโครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย ไม่เป็นไปตามแผน เนื่องจากที่ผ่านมาประสบปัญหาเขื่อนแตก ทำให้ต้องเข้าระบบล่าช้ากว่าสัญญาแน่นอน
ดังนั้นจะเหลือเพียงโครงการไซยะบุรีและน้ำเงี๊ยบ1 ที่จะเข้าระบบในปี 2562 เท่านั้น รวมกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,489 เมกะวัตต์ และเมื่อรวมกับไฟฟ้าที่ สปป.ลาว ขายเข้าระบบไฟฟ้าของไทยแล้ว(COD) อีก เกือบ 4,000 เมกะวัตต์ จะทำให้ภาพรวมการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ปลายปี 2562 มีเกือบ 6,000 เมกะวัตต์ ซึ่งยังเป็นไปตามกรอบความร่วมมือซื้อขายไฟฟ้าระหว่างไทยกับ สปป.ลาว 9,000 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบัน สปป.ลาวได้เสนอขายไฟฟ้าเข้ามาอีกหลายโครงการ แต่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐบาลไทย
นอกจากนี้ยังมีโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำของ สปป.ลาว ที่จะเข้าระบบในปี 2565 คือโครงการน้ำเทิน1 กำลังการผลิต 520 เมกะวัตต์ ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไปแล้ว
สำหรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 หรือ PDP2018 กำหนดให้ปลายแผนมีการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านรวม 5,857 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วน 9% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศนั้น ปริมาณไฟฟ้าดังกล่าวจะเกิดขึ้นในปี 2580 เป็นต้นไป โดยแผน PDP2018 กำหนดการรับซื้อไฟฟ้าประเทศเพื่อนบ้านในอนาคตไว้ ปีละ 700 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งจะเริ่มขึ้นประมาณปี 2569 และทำให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มเข้ามารวม 3,500 เมกะวัตต์ และเมื่อรวมกับไฟฟ้าที่ยังมีการผลิตจากต่างประเทศในอนาคตช่วงปี 2580 จะต้องเหลือไฟฟ้า 5,857 เมกะวัตต์ ตามแผน PDP2018
แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สำหรับแผน PDP2018 มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากต่างประเทศลดลงเหลือ 9% ช่วงปลายแผน จากแผน PDP2015 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ที่มีสัดส่วนการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 10% เนื่องจากไปเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้น
ทั้งนี้การรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศในอนาคตส่วนใหญ่ไทยจะยังคงซื้อจาก สปป.ลาว เป็นหลัก เนื่องจากไฟฟ้าพลังน้ำ มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าถูกเพียง กว่า 2 บาทต่อหน่วย และปัจจุบันมีเพียงกรอบรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาวเท่านั้น ส่วนสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับประเทศจีน 3,000 เมกะวัตต์ ได้หมดอายุไปตั้งแต่ปี 2561 แล้ว จึงยังไม่มีการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกัน
ที่มา http://www.energynewscenter.com/%E0%B8%81%E0%B8%9F%E0%B8%9C-%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%8B%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%AA/