สรุปย่อสถานการณ์เขื่อนไซยะบุรี

จัดทำโดย เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง

สิงหาคม 2565

เขื่อนไซยะบุรี Xayaburi dam สร้างกั้นแม่น้ำโขง ที่เมืองไซยะบุรี แขวงไซยะบุรี ประเทศลาว อยู่บริเวณท้ายน้ำลงมาจากเมืองหลวงพระบางราว 80 กม. และห่างจากพรมแดนไทย ที่อ.เชียงคาน จ.เลย ราว 200 กม.

เขื่อนไซยะบุรีคอนกรีตเสริมเหล็ก มีความยาว 810 เมตร มีกำลังผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ ทำสัญญาขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 1,220 เมกะวัตต์ โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement-PPA) ผูกพันการรับซื้อไฟฟ้าเป็นเวลา 29 ปี (และต่อมาได้ขายเพิ่มเป็น 31 ปี)

มีสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเข้าประเทศไทย ที่ชายแดน อ.ท่าลี่ จ.เลย และส่งไปยังสถานีไฟฟ้าหลักที่ จ.ขอนแก่น

เขื่อนไซยะบุรี  เป็นการลงทุนของกลุ่มบริษัท ช.การช่าง (CK Power) โดยบริษัทไซยะบุรีพาวเวอร์ มูลค่าการลงทุนประมาณ 1.5 แสนล้านบาท โดยมีธนาคารไทย 6 แห่งให้สินเชื่อ คือ ธนาคารไทยพานิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (Exim) ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารทิสโก้

เขื่อนไซยะบุรี เริ่มผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ ในเดือนตุลาคม 2562 แต่ได้มีการทดลองการผลิตไฟฟ้า ในเดือนกรกฎาคม 2562 ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน ระหว่างที่มีการทดลองผลิตไฟฟ้าดังกล่าว ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงพบว่าระดับน้ำโขงทางท้ายน้ำของเขื่อนไซยะบุรีลดลงระดับอย่างรุนแรง กว่า 3-4 เมตร ภายสัปดาห์เดียว ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขง โดยเฉพาะการอพยพของปลา เนื่องจากเป็นฤดูที่มีการอพยพของปลาเป็นจำนวนมาก

ชาวบ้านริมฝั่งโขงพบว่าต้นไคร้น้ำ ที่ขึ้นตามเกาะแก่ง แห้งตายเป็นจำนวนมาก ตลอดระยะทางตั้งแต่อำเภอเชียงคาน-ปากชม จ.เลย ลงไปถึง อ.สังคม จ.หนองคาย

ความผันผวนของระดับน้ำโขงจากเหตุการณ์ดังกล่าว มีรายงานว่าต่อมาวันที่ 19 กรกฎาคม 2562  สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ส่งหนังสือถือรัฐบาลลาว ขอให้มีการชะลอการผลิตไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะน้ำโขงลดระดับอย่างรุนแรง การอพยพของปลา

ในช่วงนั้นพบว่าชาวบ้านจับปลาได้จำนวนมาก พบปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็กตายอยู่ตามริมฝั่งน้ำโขง เนื่องจากระดับน้ำโขงลดลงอย่างรวดเร็ว ปลาและสัตว์น้ำบางส่วนไม่สามารถว่ายลงไปตามระดับน้ำได้ทัน นอกจากนี้ยังพบลูกปลา กุ้ง หอยขนาดเล็กที่ตกค้างอยู่ตามแอ่งน้ำ

เป็นปรากฎการณ์ที่คนลุ่มน้ำโขงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่เคยเห็นแม่น้ำโขงเป็นแบบนี้มาก่อนในชีวิต”

ค่าไฟจากเขื่อนไซยะบุรี 31 ปี

วันที่ 29 ตุลาคม 2562 คือวันครบรอบ 8 ปีของการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. กับ บริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์จำกัด และเป็นวันที่เขื่อนไซยะบุรีจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ให้แก่ กฟผ. จำนวน 1,220 เมกะวัตต์ และต่อเนื่องตามอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไปอีก 31 ปี 

โดย กฟผ. ได้ประกันการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าไว้รวม 5,709 ล้านหน่วยต่อปี  หรือคิดเป็นเงินที่จะต้องจ่ายเป็นค่าไฟฟ้าประมาณ 13,257 ล้านบาทต่อปี หรือตลอดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 31 ปี รวม 410,967 ล้านบาท สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและบริษัทไซยะบุรีพาวเวอร์ จำกัดดังกล่าว เป็นสัญญาแบบเอาไปใช้ หรือจ่ายเงิน (Take or Pay) โดยหากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำไซยะบุรีสามารถปั่นไฟฟ้าได้ตามที่กำหนด ไม่ว่า กฟผ.จะใช้ไฟฟ้าเหล่านั้นหรือไม่ก็ตาม จะต้องจ่ายเงินขั้นต่ำ ราว 13,000 ล้านบาทต่อปี

สัญญาในลักษณะดังกล่าว ทำให้นักลงทุนไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทไซยะบุรีพาวเวอร์ จำกัดหรือ ธนาคารผู้ปล่อยสินเชื่อเผชิญกับความเสี่ยงด้านรายได้ค่อนข้างต่ำ เว้นแต่ว่า โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี พาวเวอร์จำกัด จะไม่สามารถปั่นไฟฟ้าได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เช่น เผชิญกับภาวะน้ำในแม่น้ำโขงไม่เพียงพอต่อการปั่นไฟ

นับตั้งแต่วันที่เขื่อนไซยะบุรีเปิดทำการผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ พบว่าเกิดผลกระทบอย่างต่อเนื่องยาวนาน ตั้งแต่เดือนตุลาคม และเดือนพฤศจิกายน 2562 เกิดปรากฎการณ์น้ำโขงกลายเป็นสีฟ้า นับตั้งแต่ช่วงที่แม่น้ำโขงไหลผ่านตั้งแต่เขตจังหวัดนครพนม เป็นต้นไป ซึ่งนักวิขาการระบุว่า เป็นปรากฎการณ์ “หิวตะกอน” ของแม่น้ำ หรือภาวะที่แม่น้ำไร้ตะกอนในฤดูน้ำหลากที่ผ่านมา

ต่อมาเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.2 ริกเตอร์ในเขตแขวงไซยะบุรี แรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ถึงหลายจังหวัดในประเทศไทย รวมถึงกรุงเทพฯมหานคร อาคารโรงพยาบาลในจังหวัดเลย เกิดรอยร้าวและตึกสูงในตัวเมืองฮานอย ประเทศเวียดนามก็ยังรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้

ผลกระทบจากแผ่นดินไหว ทำให้โรงไฟฟ้าหงสา ที่ตั้งอยู่ในแขวงไซยะบุรี ได้รับความเสียหายบางส่วน ทำให้ต้องมีการแจ้งหยุดชั่วคราวเพื่อผลิตไฟฟ้า เพื่อตรวจสอบความเสียหาย

เขื่อนไซยะบุรี ซึ่งอยู่ห่างจากจุดแผ่นดินไหวประมาณ 70 กิโลเมตร ได้ออกประกาศว่าตัวเขื่อนไม่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวครั้งนั้น อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่และในเขตประเทศไทยก็ยังมีความหวาดหวั่นวิตกต่อกรณีการเกิดแผ่นดินไหวและภัยพิบัติที่อาจจะเกิดจากเขื่อน เมื่อปี 2561 ชาวบ้านเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ส่งจดหมายไปถึงบริษัทไซยะบุรีพาวเวอร์ เพื่อขอให้เปิดเผยแผนบรรเทาอุทกภัยและรับมือกับภัยพิบัติฉุกเฉิน แต่ไม่ได้การชี้แจงจากทางบริษัทแต่อย่างใด

คำถามสำคัญต่อโครงการเขื่อนไซยะบุรีคือ ประสิทธิภาพทางปลาผ่านและการระบายตะกอนที่ทางบริษัทได้ออกแบบและก่อสร้างขึ้นนั้น มีประสิทธิภาพอย่างไร มีการระบายน้ำของเขื่อนไซยะ และผลผลิตของไฟฟ้าได้มากน้อยเพียงใด

รวมถึงคำถามด้านความรับผิดชอบและมาตรการการบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของบริษัทเจ้าของโครงการและธนาคารผู้ปล่อยสินเชื่อให้กับเขื่อนไซยะบุร ที่ยังไม่มีความชัดเจน ขณะที่ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมนั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่วันที่มีการผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นทางการแล้ว

คดีศาลปกครอง กรณีเขื่อนไซยะบุรี

7 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ผู้ฟ้องคดี 37 ราย จาก 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงของประเทศไทย พร้อมทั้งอีก 1,000 รายชื่อที่สนับสนุน ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในคดีที่เกี่ยวกับเขื่อนไซยะบุรี ในนามเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ร่วมกับมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (Community Resource Center) เนื่องจากประเทศไทยทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าผลิตจากเขื่อนไซยะบุรีถึง 95% โดยคดีนี้ทางเครือข่ายได้ฟ้องคดีต่อ 5 หน่วยงานรัฐคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะ สำนักงานเลขาธิการคณะการมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย) และคณะรัฐมนตรี

มีมูลเหตุฟ้องคดีดังนี้

1) สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและบริษัทไซยะบุรีพาวเวอร์จำกัดนั้นไม่สมบูรณ์

2) ละเลยการปฏิบัติตามกระบวนการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลงแม่น้ำโขง ปี 2538 รวมทั้งการปฏิบัติตามกฎหมายในประเทศ และ

3) การอนุมัติของคณะรัฐมนตรีให้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไซยะบุรีไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เนื่องจากเครือข่ายภาคประชาชนเห็นว่า สัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นการลงนามระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและบริษัทไซยะบุรีพาวเวอร์จำกัด เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2554 โดยการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้านั้นไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญไทยและความตกลงว่าด้วยการร่วมมือการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงแบบยั่งยืน หรือ ‘‘ความตกลงแม่น้ำโขง” ซึ่งรวมถึงระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (Procedure for Notification Prior Consultation and Agreement : PNPCA)

ในขณะที่สัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะได้รับการลงนามก็ต่อเมื่อพันธกรณีระดับภูมิภาคได้ดำเนินการจนเสร็จสิ้นเสียก่อน แต่ประเทศไทยกลับเดินหน้าลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยที่กระบวนการการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลงยังไม่แล้วเสร็จ และก่อนที่ประเทศลาวจะให้รายงานการศึกษาและข้อมูลที่ร้องขอโดยประเทศเพื่อนบ้าน

ผู้ฟ้องคดีมีความเป็นห่วงต่อผลกระทบที่ตามมาภายหลังการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี เช่น การสูญพันธุ์ของปลา ตะกอนดินและแร่ธาตุ ผลกระทบทางความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหาร น้ำแล้ง เกษตรกรรมและอุทกภัย

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ศาลปกครองชั้นต้นไม่รับพิจารณาคดี ผู้ฟ้องคดีได้ร่วมกันอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ในวันที่ 24 มิถุนายน 2557 โดยเห็นว่าศาลมีอำนาจพิจารณาคดี การเปิดเผยข้อมูลและกระบวนการมีส่วนร่วมที่ไม่ครบถ้วน และการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายตามรัฐธรรมนูญและระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายตามมาตรา 9 ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงและน่าจะได้รับผลกระทบจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพราะต้องอาศัยและพึ่งพิงจากแม่น้ำโขง ผู้ฟ้องคดีจึงควรมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการคุ้มครอง ส่งเสริมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อความยั่งยืน ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้เสียหายหรือน่าจะเสียหายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากการละเลยปฏิบัติตามกฎหมายเช่นว่านั้น จึงย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 วรรค 1 แม้ว่าจะหมดอายุของการฟ้องคดีไปแล้ว แต่ว่าคดีดังกล่าวเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะและศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลจึงรับไว้พิจารณาได้ตามมาตรา 42 วรรค 2 ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำพิพากษาให้รับฟ้องเฉพาะประเด็นที่ว่าการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีให้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไซยะบุรีไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกเหนือจากนั้นเห็นตามศาลปกครองชั้นต้น

อย่างไรก็ตามเมื่อ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 ศาลออกนั่งพิจารณาคดี  ได้รับฟังสรุปข้อเท็จจริงจากคู่ความ คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติกรณีการดำเนินการสัญญาชื้อขายไฟฟ้าเขื่อนไชยะบุรีหรือไม่  เมื่อศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินการสัญญาชื้อขายไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรีบนเว็บไซด์ www.eppo.go.th และบนเว็บไซด์ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ถือได้ว่าได้มีการเผยแพร่ขอมูลการดำเนินการสัญญาชื้อขายไฟฟ้า เขื่อนไซยะบุรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 แล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และที่ 5 (คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี) จึงไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กรณีการดำเนินการสัญญาชื้อขายไฟฟ้าเขื่อนไชยะบุรี และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 3 (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และกระทรวงพลังงาน) จึงไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ตามมติของคณะรัฐมนตรีและดามรัฐธรรมนูญ กรณีการดำเนินการสัญญาชื้อขายไฟฟ้าเขื่อนไชยะบุรีเช่นกัน นอกจากนี้ การดำเนินการสัญญาชื้อขายไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรีไม่ใช่โครงการหรือกิจการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ไม่มีหน้าที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรณีการดำเนินการสัญญาชื้อขายไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรี และไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ ในกรณีดังกล่าว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยกรมทรัพยากรน้ำได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามระเบียบปฏิบัติ เรื่อง การแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) เกี่ยวกับการปรึกษาหารือล่วงหน้ากรณีการดำเนินโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีแล้ว โดยไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ในกรณีดังกล่าว

25 ธันวาคม 2558 ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดี พิพากษายกฟ้อง

25 มกราคม 2559 เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดอีกครั้ง 

14 กุมภาพันธ์ 2563 เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ยื่นหลักฐานเพิ่มเติมต่อศาลปกครองสูงสุดกรณีคดีเกี่ยวกับผลกระทบข้ามพรมแดนจากการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี โดยเป็นการยื่นเอกสารเพิ่มเติม หลังจากที่เขื่อนไซยะบุรีได้เริ่มผลิตไฟฟ้าเชิงพานิชย์ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 และเกิดปรากฎการณ์การเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงทางระบบนิเวศอย่างหนัก บริเวณท้ายน้ำจากเขื่อนไซยะบุรี ที่พรมแดนไทยลาว จาก อ.เชียงคาน จ.เลย ลงไปจนถึง จ.นครพนม และจ.อุบลราชธานี อาทิ ระดับน้ำที่ผันผวน ขึ้นลงผิดธรรมชาติและปรากฎการณ์แม่น้ำโขงสีคราม ซึ่งหมายถึงแม่น้ำขาดตะกอน แร่ธาตุสารอาหารที่จำเป็นต่อสัตว์น้ำและเกษตรกรรมตลอดลุ่มน้ำ และส่งผลกระทบต่อระบบน้ำประปาของชุมชนและเมืองขนาดใหญ่ตลอด 7 จังหวัดในภาคอีสาน  เครือข่ายประชาชนฯ จึงได้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมและให้ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวและให้ศาลมีคำสั่งโดยเร็วให้ระงับการซื้อไฟฟ้า จนกว่าจะมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ  และนำส่งเอกสารเพิ่มเติมประกอบการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากมีข้อเท็จจริงเพิ่มขึ้นที่กำลังเกิดใหม่ดังเป็นที่ประจักษ์

ศาลปกครองได้มีการนัดนั่งพิจารณคดีครั้งแรกเมื่อ วันที่ 3 พฤษภาคม 2565 โดยตุลาการเจ้าของสำนวนได้มีการอ่านสรุปข้อเท็จจริงในคดีให้ผู้ฟ้องคดีได้รับฟัง ตุลาการผู้แถลงคดีได้แถลงความเห็นตนต่อคดีดังกล่าวต่อองค์คณะ และจะมีการกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาโดยจะส่งหมายแจ้งคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีทราบในภายหลัง โดยศาลได้กำหนดประเด็นในการวินิจฉัย 2 ประเด็น คือ 1 ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างเหมาะสมหรือไม่และได้ดำเนินการจัดการรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจังหรือไม่ และ 2 ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนในการจัดทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือไม่  ในครั้งนี้มีผู้ฟ้องคดี 2 คนคือ นายอำนาจ ไตรจักร์ และนางอ้อมบุญ ทิพย์สุนา ได้แถลงข้อมูลเพิ่มเติมด้วยวาจา และมีการส่งคำแถลงคดีเพิ่มเติมที่เป็นเอกสารไปด้วย

ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษา ในวันที่ 17 สิงหาคม 2565

ข้อมูลเพิ่มเติม www.mymekong.org

More to explorer

สำรวจพื้นที่ 2 โครงการยักษ์เขื่อนกั้นแม่น้ำโขง พบการก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบางคืบหน้าไปมาก-กั้นลำน้ำโขงแล้วเกือบครึ่ง-อพยพชาวบ้านแล้วบางส่วน ชาวบ้านน้ำตาตกวัด-พระพุทธรูปเก่าต้องอยู่ใต้น้ำ ขณะที่เขื่อนปากแบงยังไม่ได้ลงมือก่อสร้างใดๆ นักอนุรักษ์-นักกฎหมายจี้ตอบคำถามผลกระทบข้ามแดน