แถลงการณ์เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดแม่น้ำโขง “หยุดซื้อไฟจากเขื่อนแม่น้ำโขง”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดแม่น้ำโขง ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลยุติการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนแม่น้ำโขง   สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2564 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าและการขยายกรอบความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับสปป. ลาว  ในโครงการเขื่อนน้ำงึม 3 ในอัตราค่าไฟฟ้าที่ 2.8934 บาทต่อหน่วย โครงการเขื่อนปากแบง ในอัตราค่าไฟฟ้าที่ 2.7935 บาทต่อหน่วย โครงการเขื่อนปากลาย ในอัตราค่าไฟฟ้าที่ 2.9426 บาทต่อหน่วย โดยอัตราค่าไฟฟ้าดังกล่าวจะคงที่ตลอดสัญญาและมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามในร่าง Tariff MOU ซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนทั้ง 3 แห่ง  รวมการขยายกรอบความร่วมมือในการซื้อขายไฟฟ้าจาก 9,000 เมกะวัตต์เป็น 10,500 เมกะวัตต์ 

ในแถลงการณ์ ระบุว่า ปัจจุบันชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง ทั้งในไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ต่างได้รับผลกระทบข้ามพรมแดนอย่างแสนสาหัสจากเขื่อนแม่น้ำโขง ทั้งเขื่อนตอนบนในจีน 11 แห่ง ที่ส่งผลกระทบมากว่า 20 ปี และถูกซ้ำเติมด้วยเขื่อนไซยะบุรี กั้นแม่น้ำโขงในลาว ห่างจากพรมแดนไทย ที่ จ.เลย เพียงราว 200 กิโลเมตร เขื่อนไฟฟ้าเหล่านี้ ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทั้งการเปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำ การขึ้นลงผิดปกติ การลดลงของตะกอน จนทำให้เกิดปรากฏการณ์แม่น้ำโขงเป็นสีฟ้า การลดลงของปลาธรรมชาติ การตายของพันธุ์ไม้ท้องถิ่นของแม่น้ำโขง ผลกระทบต่อการเกษตรและการประมงของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงใน 8 จังหวัดของประเทศไทย และยังส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงชนพื้นเมืองที่ต้องถูกอพยพโยกย้ายออกจากถิ่นฐานดั้งเดิมริมแม่น้ำ กลุ่มคนเปราะบางที่พึ่งพาทรัพยากรจากแม่น้ำโขงในลาว กัมพูชา และปากแม่น้ำโขงที่เวียดนาม

ขณะในระดับภูมิภาคยังไม่มีกลไกและเครื่องมือที่จะบังคับให้ผู้พัฒนาโครงการรับผิดชอบต่อผลกระทบข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้น 

แถลงการณ์ระบุเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนฯ ได้แสดงจุดยืนยันไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายประธาน และได้ชี้แจงเหตุผล ข้อกังวลผลกระทบ และเรียกร้องขอให้ยุติการซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนแม่น้ำโขงมาโดยตลอด เมื่อปี 2561-2562 กรณีโครงการเขื่อนปากแบง เครือข่ายประชาชนฯ ได้จัดประชุมเจรจาร่วมกับบริษัทต้าถัง คอร์ปอเรชั่น(Datang Corporation) ผู้พัฒนาโครงการเขื่อนปากแบง ถึง 2 ครั้ง ที่สถานบันองค์ความรู้ท้องถิ่นโฮงเฮียนแม่น้ำโขง จ.เชียงราย และที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อชี้แจงประเด็นข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบข้ามพรมแดนที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น น้ำที่จะท่วมในแม่น้ำโขงและพื้นที่ชุ่มน้ำตามแม่น้ำสาขา (เช่น แม่น้ำอิงและแม่น้ำงาว) ซึ่งเป็นพื้นที่แหล่งเพาะฟักของสัตว์น้ำ และพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน การปิดกั้นการอพยพของพันธุ์ปลาธรรมชาติจากแม่น้ำโขงตอนล่าง การทำลายความหลากหลายทางชีวภาพของแม่น้ำโขงที่เชื่อมโยงกัน การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น (PNPCA) การศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ไม่ครอบคลุมถึงพื้นที่ในเขตประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งผลการเจรจากับบริษัทต้าถัง ทั้ง 2 ครั้งได้มีข้อเสนอให้มีการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนร่วมกันระหว่างบริษัทผู้พัฒนาโครงการ สถาบันวิชาการของไทย และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ล่าสุดเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทางกพช.ได้ตอบจม.ของเครือข่ายประชาชนฯว่า  “ยังไม่มีแผนรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนแม่น้ำโขงทั้ง 4 แห่งและระบุให้ผู้รับผิดชอบโครงการเยียวยาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนที่อาจจะเกิดขึ้นในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า” แต่วันนี้กลับมีข่าวการเตรียมซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนทั้งสองแห่ง

 ต่อสถานการณ์การเร่งรัดการซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนแม่น้ำโขง ตามมติของ กพช. ดังกล่าว พวกเราเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง จึงขอแสดงจุดยืนคัดค้านการซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนทั้ง 3 แห่ง และโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงที่มีการวางไว้ทั้งหมด    โดยมีข้อสังเกตและข้อกังวลดังนี้ 

1. การซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนน้ำโขง 2 แห่ง คือ เขื่อนปากแบง ซึ่งจะก่อสร้างห่างจากชายแดนไทย อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เพียง 80 กิโลเมตร และโครงการเขื่อนปากลาย ห่างจากชายแดนไทย อ.ท่าลี่ จ.เลย (สกายวอล์ค อ.เชียงคาน) เพียง 90 กิโลเมตร เท่านั้น เขื่อนทั้งสองแห่งจะยิ่งส่งผลกระทบรุนแรงและซ้ำเติมต่อสภาพระบบนิเวศแม่น้ำโขงและวิถีชีวิตของประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขงให้เลวร้ายยิ่งขึ้น ปัจจุบันที่ชาวบ้านริมฝั่งโขงก็ต้องเผชิญกับปัญหาจากเขื่อนอยู่แล้ว ทั้งการขึ้นลงของระดับน้ำที่ไม่ปกติ ผิดฤดูกาล การลดลงของปลาแม่น้ำโขง การขาดแคลนน้ำต้นทุนในช่วงฤดูแล้ง เป็นต้น

2. การเร่งรัดให้มีการซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขง 2 แห่งและเขื่อนน้ำงึม 3 นั้น เครือข่ายฯ มีข้อสังเกตว่า เป็นการตัดสินใจที่เร่งรีบ ขาดความโปร่งใส และไม่ชอบธรรม แผนดังกล่าวสวนทางกับสถานการณ์พลังงานของประเทศไทยที่มีไฟฟ้าสำรองมากกว่า 50 % และค่าไฟฟ้าที่แพงมากขึ้น ซึ่งกลายเป็นภาระของผู้บริโภคในปัจจุบัน นำมาสู่คำถามว่า ใช่หรือไม่ว่า แผนการรับซื้อไฟฟ้ารอบนี้ เกิดจากแรงผลักดันของบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของไทย ซึ่งมีเป้าหมายในการลงทุนในโครงการเขื่อนทั้ง 2แห่ง และที่ผ่านมามีฝ่าย CSR บริษัท ได้พยายามลงพื้นที่เพื่อพบกับชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำโขง

3. ประสบการณ์ที่ผ่านมาชี้ได้ว่า เขื่อนไฟฟ้าไม่ใช่ทางออกสำหรับการเปลี่ยนผ่านพลังงานของประเทศไทยและภูมิภาค เขื่อนมีต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพและ วิถีชีวิตของชุมชน ต้นทุนดังกล่าวไม่ถูกนำคำนวนในต้นทุนของค่าไฟที่แท้จริง ประชาชนที่พึ่งพาแม่น้ำโขงคือผู้แบกรับภาระผลกระทบทั้งด้านสิ่งสิ่งแวดล้อมและสังคม และถูกเรียกร้องให้ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง ขณะที่ผู้ก่อผลกระทบกลับนิ่งเฉย  การประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนน้ำโขงของไทย ยังสวนทางกับคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีในงานประชุมCOP26 ที่ประเทศโปแลนด์ที่ระบุว่า “ประเทศไทยจะทำทุกวิถีทางในการแก้ไขปัญหาสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและตั้งเป้าบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2065” เพราะเขื่อนขนาดใหญ่คือแหล่งปล่อยก๊าซมีเทนที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะเขื่อนไฟฟ้าขนาดใหญ่คือแหล่งปล่อยก๊าซมีเทนสู่ชั้นบรรยากาศมหาศาลอีกด้วย 

พวกเราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุติกระบวนการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนบนแม่น้ำโขงทั้ง 2 แห่ง และเขื่อนอื่น ๆ ตามแผน เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและปกป้องแม่น้ำโขงให้กลับคืนมา   

“เราไม่มีแม่น้ำโขงสายที่สองเช่นเดียวกับโลกใบที่สอง” 

เพราะแม่น้ำโขง คือแม่น้ำของพวกเราทั้ง 6 ประเทศ  

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดแม่น้ำโขง

More to explorer

สำรวจพื้นที่ 2 โครงการยักษ์เขื่อนกั้นแม่น้ำโขง พบการก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบางคืบหน้าไปมาก-กั้นลำน้ำโขงแล้วเกือบครึ่ง-อพยพชาวบ้านแล้วบางส่วน ชาวบ้านน้ำตาตกวัด-พระพุทธรูปเก่าต้องอยู่ใต้น้ำ ขณะที่เขื่อนปากแบงยังไม่ได้ลงมือก่อสร้างใดๆ นักอนุรักษ์-นักกฎหมายจี้ตอบคำถามผลกระทบข้ามแดน