โดย เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง
โครงการเขื่อนปากแบง Pak Beng Hydropower Project ถูกระบุว่าเป็นเขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน (Run Off River) มีแผนที่จะก่อสร้างบนแม่น้ำโขงสายประธาน ในเขตเมืองปากแบง แขวงอุดมไชย ทางภาคเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว
หัวงานเขื่อนตั้งอยู่บริเวณดอนเทด ห่างไปทางตอนบนของเมืองปากแบง ประมาณ 14 กิโลเมตร ห่างจากชายแดนไทยบริเวณ แก่งผาได ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ประมาณ 97 กิโลเมตร
มีกำลังผลิตติดตั้ง 912 เมกะวัตต์ โดยมีแผนจะขายไฟฟ้าเกือบทั้งหมดแก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)
โครงการเขื่อนปากแบง ยังถูกออกแบบเพื่อปรับปรุงการเส้นทางเดินเรือสินค้า ระหว่างยูนนาน ประเทศจีน ไปยังเมืองหลวงพระบาง สอดคล้องกับโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง หรือที่รู้จักกันในนาม โครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง
ผู้พัฒนาโครงการคือ บริษัทไชน่า ต้าถัง โอเวอร์ซี อินเวสเมนต์ จำกัด (China Datang Overseas Investment Co.,Ltd ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติจีนและบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ถือหุ้นระหว่าง 51 % และ 49 % ตามลำดับ
ปี 2559 กรณีเขื่อนปากแบง เริ่มเข้าสู่กระบวนการแจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (PNPCA) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง
โครงการเขื่อนปากแบง ได้เข้าสู่กระบวนการแจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง(Prior, Notification, Procedure and Agreement: PNPCA ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง มาตรา 5 ว่าด้วยการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขง เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 และครบระยะเวลา 6 เดือน ในวันที่ 19 มิถุนายน 2560 กรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยในขณะนั้น ได้มีการจัดเวทีให้ข้อมูลใน 3 จังหวัด โดยระบุว่าเป็น “เวทีให้ข้อมูลกรณีเกี่ยวกับโครงการเขื่อนปากแบง” รวม 4 ครั้งคือ จังหวัดเชียงราย 2 ครั้ง จังหวัดหนองคาย 1 ครั้ง จังหวัดอุบลราชธานี 1 ครั้ง จาก 4 เวทีดังกล่าว ประเด็นที่ชาวบ้านที่เข้าร่วมเวทีมีกังวล เนื่องจากรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม ไม่มีการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน อาทิ
– ผลกระทบจากภาวะ “น้ำเท้อ” จากอ่างเก็บน้ำของเขื่อนปากแบง ในเขตชายแดนไทยบริเวณ อ.เวียงแก่น เชียงของ เชียงแสน และผลกระทบต่อลุ่มน้ำสาขาคือ น้ำงาว และน้ำอิง
– ผลกระทบสะสมจากเขื่อนจิงหงของจีนที่ใช้งานเขื่อนและระบายน้ำโดยไม่มีการแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการต่อประชาชนในประเทศไทย
– ผลกระทบต่อการอพยพของปลาหากมีเขื่อนกั้นเส้นทางอพยพ คนหาปลา ประมงพื้นบ้าน
– ผลกระทบต่อการเกษตร พื้นที่เกษตรริมแม่น้ำโขง และที่ราบลุ่มลำน้ำสาขา
– ผลกระทบต่อตลิ่งพัง
– ผลกระทบต่อเส้นพรมแดนไทย-ลาว
19 มิถุนายน 2560 กรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะตัวแทนคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้ยื่นใบตอบรับ (Reply Form) ต่อสำนักงานเลขาธิการแม่น้ำโขง(MRCs) ระบุว่า ประเด็นข้อคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบของไทย 4 ข้อหลักคือ ผลกระทบจากภาวะน้ำเท้อเหนือเขื่อนปากแบงในเขตอำเภอเวียงแก่น เชียงของ เชียงแสน ประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ลำน้ำสาขาคือ น้ำงาว และน้ำอิง การขึ้นลงของน้ำอย่างเฉียบพลันจากการบริหารจัดการเขื่อนปากแบงและเขื่อนตอนบนของจีนซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขง แหล่งที่อยู่อาศัยของปลา การท่องเที่ยว การปลูกพืชตามฤดูกาล และประเพณีวัฒนธรรมของชาวบ้านริมแม่น้ำโขง การเปลี่ยนแปลงของตะกอนและระบบการไหลหลากของน้ำ ผลกระทบต่อการประมงและศักยภาพของทางปลาผ่าน (Fish Passage)
เมษายน 2560 กลุ่มรักษ์เชียงของ ได้ทำหนังสือถึงหน่วยงานราชการหลายแห่งเพื่อขอทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบข้ามแดนที่เกิดจากการก่อสร้างเขื่อนปากแบง อาทิ กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กรมประมง ซึ่งสผ. มีหนังสือตอบกลับกลุ่มรักษ์เชียงของ ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 มีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า สผ.ได้ให้ความเห็น (แก่กรมทรัพยากรน้ำ ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก) ว่าข้อมูลที่ใช้นั้นเป็นข้อมูลเก่า ยังไม่เป็นปัจจุบัน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งอาจจะส่งผลกระทบข้ามพรมแดนและผลกระทบสะสม จึงต้องมีมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จำเป็นจากเจ้าของโครงการ ซึ่งสผ. ได้เสนอให้มีแผนการปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนกับประเทศท้ายน้ำซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย
วันที่ 18 พฤษภาคม 2560 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีหนังสือตอบกลับกลุ่มรักษ์เชียงของ มีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า สำหรับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณเหนือน้ำและท้ายน้ำในเขตประเทศไทย ที่อาจเกิดจากการเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าของเขื่อนปากแบงนั้น กฟผ.ได้ร่วมพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง ของสปป.ลาว และได้เสนอความเห็นทั้งทางด้านเทคนิคและวิชาการ รวมทั้งมาตรการป้องกันแก้ไขและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ระบุไว้ในรายงานดังกล่าวไว้แล้วรวมทั้งยินดีให้ความร่วมมือและให้การสนับสนุนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันให้มีการดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนอย่างเป็นรูปธรรม (Transboundary Environmental Impact Assessment: TbEIA)
วันที่ 22 พฤษภาคม 2560 กรมประมง มีหนังสือตอบกลับมีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า ทางกรมประมงขอชี้แจงความคิดเห็นต่อกรณีผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากโครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง หลังได้พิจารณารายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เห็นว่า การศึกษาผลกระทบของโครงการด้านทรัพยากรประมงยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ขาดความสมบูรณ์ เเละไม่ครอบคลุมพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการทั้งหมด เช่น
1) จุดเก็บตัวอย่างที่ดำเนินการเก็บตัวอย่างทางด้านประมงมีจำนวนน้อย ไม่ครอบคลุมพื้นที่ในลำน้ำและรูปแบบเเหล่งอาศัยสัตว์น้ำที่จะได้รับผลกระทบ ทำให้ผลการศึกษาไม่สะท้อนข้อมูลที่จะได้รับผลกระทบจริงทั้งหมด 2) ช่วงระยะเวลาที่เก็บตัวอย่างภาคสนามจำนวน 2 ครั้งในช่วงเดือนมกราคมเเละเดือนกรกฎาคม 2554 ไม่ครอบคลุมการเปลี่ยนเเปลงที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลในรอบปีทั้งหมด ส่งผลให้จำนวนพันธุ์ปลาที่พบจากการศึกษามีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับผลการศึกษาของผู้วิจัยอื่นที่ดำเนินการในพื้นที่เดียวกัน 3) วิธีการสุ่มตัวอย่างในด้านการประมงในภาคสนาม ยังไม่เป็นวิธีการที่เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งทำการสุ่มตัวอย่างด้วยเครื่องมืออวนทับตลิ่งที่มีพื้นที่ขนาดเล็กมาก จึงไม่เป็นตัวแทนที่ดีพอและไม่สามารถสะท้อนให้เห็นความชุกชุมของประชากรปลาที่มีอยู่จริง 4) ไม่มีการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มชาวประมงอาชีพในบริเวณพื้นที่เหนือเขื่อน โดยเฉพาะในส่วนของประเทศไทยตั้งแต่พื้นที่แก่งผาได อำเภอเวียงแก่น จนถึงบ้านปากอิง ตำบลศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย กล่าวได้ว่า หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศต่างมีความกังวลต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนต่อประเทศไทยอย่างยิ่งเนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของการจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของบริษัท
การใช้กลไกกระบวนการฟ้องศาลปกครอง
8 มิถุนายน 2560 ตัวแทนกลุ่มรักษ์เชียงของจำนวน 4 คนและตัวแทนเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ยื่นฟ้องศาลปกครอง โดยผู้ถูกฟ้องคือ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำและคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย โดยขอให้ศาลปกครองพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างเขื่อนพลังงานไฟฟ้าปากแบง และความเห็นต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการส่งไปยังคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เนื่องจากการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาไม่ครอบคลุมและละเลยดำเนินการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย รวมทั้งการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง การแปลเอกสารเป็นภาษาไทยเกี่ยวกับโครงการทั้งหมด และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ทั้งในฝั่งประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากอันตรายข้ามพรมแดน ก่อนที่รัฐบาลลาว จะดำเนินการก่อสร้างเขื่อนปากแบง หรือก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอันเป็นล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
23 กันยายน 2560 ศาลปกครองมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องกรณีของเขื่อนปากแบง ซึ่งต่อมากลุ่มรักษ์เชียงของก็ได้ยื่นอุทธรณ์
24 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีเขื่อนปากแบง คำสั่งดังกล่าวมีเนื้อหาสำคัญสรุปได้ว่า
1. การจัดรับฟังความคิดเห็นตามกระบวนการ PNPCA เป็นการดำเนินการตามข้อตกลงแม่น้ำโขง ซึ่งพันธกรณีระหว่างประเทศ ที่รัฐไทยไปลงนามเป็นภาคีไว้ จึงไม่อาจจำเอากฎหมายไทยมาบังคับใช้ และรัฐไม่ได้มีอำนาจในการอนุมัติ อนุญาต เพิกถอนโครงการดังกล่าวได้ เนื่องจากไม่อยู่ในอธิปไตย (โครงการอยู่ในสปป.ลาว)
2. การฟ้องให้ผู้ถูกฟ้องคดี ออกข้อบังคับต่าง ๆ ในกรณีผลกระทบข้ามพรมแดน เช่น การออกกฎหมายการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน ไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ไม่มีการบัญญัติเรื่องการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนไว้
3. สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ที่ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ดำเนินนการในฐานะตัวแทนของรัฐบาล การทำความเห็นเกี่ยวกับเขื่อนปากแบง ตามที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องนั้น ถือเป็นการดำเนินการตามอำนาจบริหารของรัฐบาล ไม่ถือเป็นการกระทำทางปกครอง ที่ศาลปกครองจะรับฟ้องได้ คำขอที่ให้สทนช.มีข้อแนะนำ หรือข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานภายใน กฟผ. และหน่วยงานอื่น ให้พิจารณาการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับเขื่อนปากแบง ก็ไม่ใช่เป็นการกระทำทางการปกครองที่จะรับฟ้องได้ จึงถือว่าคดีถึงที่สุด
หลังจากคำพิพากษาของศาลปกครองดังกล่าว ต่อมาพบว่ามีการเร่งรัดในการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับโครงการเขื่อนปากแบง
กระบวนการเจรจากับผู้พัฒนาโครงการจากสปป.จีน
15 มกราคม 2561 ผู้พัฒนาโครงการของบริษัทไชน่า ต้าถัง โอเวอร์ซี อินเวสต์เม้นท์ จำกัด ( China Datang Oversea Investment) พร้อมด้วยนายจันสะแหวง บุนนอง อธิบดีกรมนโยบายและแผน กระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ พร้อมกับตัวแทนบริษัทไชน่า ต้าถัง โอเวอร์ซี อินเวสเมนต์ ผู้พัฒนาโครงการเขื่อนปากแบง ได้เดินทางมาประชุมกับตัวแทนเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ สถาบันองค์ความรู้ท้องถิ่นโฮงเฮียนแม่น้ำของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย โดยมีการนำเสนอประเด็นข้อกังวลต่อผลกระทบข้ามพรมแดน โดยทางภาคประชาชนเสนอให้มีการทบทวนการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
4 สิงหาคม 2562 ผู้แทนบริษัทต้าถัง( China Datang Oversea Investment)ได้ประชุมร่วมกับนักวิชาการและตัวแทนหน่วยงานของรัฐคือกรมทรัพยากรน้ำ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อหาแนวทางการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนจากเขื่อนดังกล่าว แต่ยังไม่มีความคืบหน้าเรื่องกระบวนการศึกษาร่วมกับรัฐบาลลาวและทางบริษัทจีน
การร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรณีการละเมิดสิทธิชุมชน จากโครงการเขื่อนปากแบง
8 กรกฎาคม 2559 นายทองสุข อินทะวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านห้วยลึก ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดจากโครงการเขื่อนปากแบง ผู้ถูกร้องเรียนคือ กรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย และเนื่องจากมีกระบวนการฟ้องร้องต่อศาลปกครองของกลุ่มรักษ์เชียงของ เมื่อปี 2560 และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงได้มีการออกรายงานผลการตรวจสอบและยุติการตรวจสอบดังกล่าว
19 กุมภาพันธ์ 2563 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ออกรายงานการตรวจสอบการละเมิดสิทธิของกรณีเขื่อนปากแบง ผลรายงานที่สำคัญคือ กรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะผู้ถูกร้อง ได้ว่าจ้างคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการสำรวจภูมิประเทศเพื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วม จ.เชียงราย จากโครงการเขื่อนปากแบง ตั้งแต่พื้นที่บริเวณสบกก อ.เชียงแสน ถึงแก่งผาได อ.เวียงแก่น รวมระยะทาง 119 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยง 27 หมู่บ้าน ในเขตประเทศไทย โดยจากการสำรวจพบว่า มี 2 หมู่บ้านที่น่ากังวลคือ บ้านห้วยลึกและบ้านแจมป๋อง มีระดับใกล้เคียงกับระดับกักเก็บน้ำของเขื่อนที่สปป.ลาวแจ้งไว้คือ ระดับ 340 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของกรมชลประทาน ที่เห็นว่า โครงการเขื่อนปากแบงอาจจะส่งผลให้ระดับน้ำงาวและแม่น้ำอิง สูงขึ้นในช่วงฤดูน้ำหลาก ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านอุทกภัยในพื้นที่ อ.เชียงของ อ.ขุนตาล และ อ.เทิง และลุ่มน้ำงาว ในเขต อ.เวียงแก่น เพิ่มสูงขึ้นได้ และกสม. ได้มีข้อเสนอต่อหน่วยงานของรัฐไทยที่เกี่ยวข้องให้ทำการปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ
การเดินหน้าผลักดันการเจรจาซื้อขายไฟฟ้าของเขื่อนปากแบงและการร่วมทุนของเอกชนไทย
9 มีนาคม 2565 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้า และมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจในการรับซื้อไฟฟ้า (Taffif MOU) ต่อไป โดยกรณีเขื่อนปากแบง ผู้พัฒนาโครงการ คือ China Datang Overseas Investment Co., Ltd. และ Gulf Energy Development Public Co., Ltd. (GULF) ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขง แขวงอุดมไซย สปป. ลาว กำลังผลิตติดตั้ง 912 เมกะวัตต์ ปริมาณเสนอขาย ณ จุดส่งมอบ 897 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าประเภท Run off River พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้เฉลี่ยต่อปีประมาณ 4,525 ล้านหน่วย อายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 29 ปี กำหนด SCOD วันที่ 1 มกราคม 2576 ทั้งนี้ ข้อเสนออัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย ณ ชายแดน รวมค่าก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าในฝั่งไทย ในราคาซื้อไฟฟ้า 2.9179 บาทต่อหน่วย
25 เมษายน 2565 บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า บริษัท กัลฟ์ฯ และ China Datang Overseas Investment Co.,Ltd. (CDTO) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ร่วมกันลงนามบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Pak Beng กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจ ระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เรื่องความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว และเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ซึ่งนับเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำโครงการที่ 2 ที่บริษัทฯ ได้เข้าไปลงนาม Tariff MOU ต่อจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Pak Lay ที่ได้แจ้งให้ทราบไปเมื่อวันที่24 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา โดยบริษัทฯ มีแผนที่จะดำเนินการเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 49% ใน Datang (Lao) Pakbeng Hydropower Co., Ltd. (บริษัทร่วมทุน) จาก CDTO เพื่อพัฒนาโครงการเขื่อนปากแบง โดยบริษัทกัลฟ์ฯ และ CDTO จะถือหุ้นในบริษัทร่วมทุนในสัดส่วน 49% และ 51% ตามลำดับ ต่อมากพช.ได้มีการพิจารณาเห็นชอบร่างร่างสัญญาซื้อไฟฟ้ากรณีเขื่อนปากแบง แล้ว เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา สัญญาซื้อขายไฟฟ้าอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งหากแล้วเสร็จ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จะเป็นผู้ลงนามรับซื้อไฟฟ้าต่อไป
เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงได้มีหนังสือเรียกร้องให้กระทรวงพลังงานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ทบทวนการลงนามซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบง เนื่องภาระค่าไฟของผู้บริโภคที่สูงขึ้นและพลังงานสำรองที่เกินกว่า 60% และผลกระทบข้ามพรมแดนต่อพื้นที่เหนือเขื่อนในเขตอำเภอเวียงแก่น เชียงของและเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรในลำน้ำสาขาคือ น้ำอิงและน้ำงาว และแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทยลาว ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายตั้งอยู่ระหว่างเขื่อนจิงหง ในสปป.จีน และเขื่อนปากแบง ที่จะก่อสร้างใน สปป.ลาว ซึ่งจะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำระหว่างเขื่อนทั้งสองแห่ง หากมีการบริหารจัดการน้ำที่ไม่สอดคล้องกันและอาจจะส่งผลกระทบต่อเส้นเขตแดนระหว่างไทย-ลาวในอนาคตอีกด้วย
2 กรกฎาคม 2565 กลุ่มรักษ์เชียงของ ได้จัดเวทีให้ข้อมูลรับฟังความคิดเห็นการสร้างเขื่อนปากแบงกับท้องที่ท้องถิ่น อำเภอเวียงแก่น กลุ่มรักษ์เชียงของได้จัดเวทีให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นในเรื่องการสร้างเขื่อนปากแบบ จากผู้นำท้องที่ท้องถิ่น ในพื้นที่ ต.ม่วงยาย ที่มีพื้นที่ห่างจากจุดสร้างเขื่อนปากแบบใน สปป.ลาว เพียง 97 กม. ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่มีความกังวลต่อผลกระทบข้ามพรมแดน
การร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องตามกลไกของรัฐสภา และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน
ปี 2565 เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎร 3 คณะ ได้แก่ คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ และคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน ซึ่งได้มีการจัดประชุมจำนวน 5 ครั้งคือ
วันที่ 1 และ 15 กันยายน 2565 ตัวแทนเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ ประเด็น “ผลกระทบจากสัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) ในโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงที่ขาดการมีส่วนร่วมของคนไทย” โดยมีตัวแทนเครือข่ายประชาชนไทยฯ เข้าร่วมการประชุม 6 คน
วันที่ 2 และ 8 กันยายน 2565 ตัวแทนเครือข่ายฯ ร่วมประชุม กมธ.ตปท. รัฐสภา
เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการต่างประเทศ รับฟังการชี้แจงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนปากแบงและเขื่อนสานะคาม ประเด็น “ผลกระทบจากเขื่อนปากแบงและเขื่อนสานะคามต่อเขตแดนประเทศไทย” และมีการจัดทำรายงานสรุปผลการประชุม
2 กันยายน 2565 เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ส่งจดหมายถึงอัยการสูงสุดเพื่อขอให้ชะลอการตรวจสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(Power Purchase Agreement) ระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)และบริษัทผู้พัฒนาโครงการเขื่อนปากแบง ปากลายและหลวงพระบาง เนื่องจากอยู่ในระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร และอยู่ในช่วงวิกฤตค่าไฟแพงและพลังงานสำรองของประเทศไทยสูงเกิน 50% เนื่องจากทราบว่า ร่างสัญญาฯ ได้อยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการสูงสุดแล้ว
13 กันยายน 2565 คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึง ผู้ว่าการ กฟผ. เรื่อง ขอข้อมูลเพิ่มเติม โดยระบุว่าตามที่ได้เชิญท่านเข้าร่วมประชุม กมธ. ในการพิจารณาเรื่อง “ผลกระทบจากสัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) ในโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงที่ขาดการมีส่วนร่วมของคนไทย” เมื่อวันที่ 1 กันยายน และท่านได้มอบหมายให้ผู้แทนเข้าร่วมประชุม กมธ.ได้ร่วมกันพิจารณาแล้ว เห็นว่า ยังคงมีบางประเด็นที่ต้องได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบ จึงเห็นควรให้มีการขอข้อมูล เพิ่มเติมจากท่าน เพื่อให้การดำเนินงานของ กมธ.บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด ดังนี้คือ (1) ขอให้ส่งร่างสัญญาข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนระหว่างรัฐและ เอกชนที่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าขึ้นมาใช้เอง (PPA) ของ 3 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนปากแบง เขื่อนปากลาย และ เขื่อนหลวงพระบาง ให้แก่ กมธ.และ (2) ขอให้ชะลอสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไปจนกว่า กมธ.จะได้รับข้อมูลครบถ้วน
3-4 ตุลาคม 2565 สื่อมวลชนลงพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากกรณีโครงการเขื่อนปากแบงในพื้นที่ อำเภอเวียงแก่น อำเภอเชียงของ อำเภอเชียงแสน นักข่าวและช่างภาพจำนวน 18 คนจาก 11 สำนักข่าวได้ร่วมกันลงพื้นที่แม่น้ำโขงบริเวณผาได อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่เครือข่ายประชาชนริมแม่น้ำโขงร้องเรียนว่าอาจได้รับผลกระทบข้ามแดนจากโครงการสร้างเขื่อนปากแบ่งในประเทศลาวซึ่งอยู่ห่างออกไปกว่า 90 กิโลเมตร
11 ตุลาคม 2565 กลุ่มรักษ์เชียงของ ได้ส่งหนังสือ นายกรัฐมนตรี ให้ทบทวนกรณีการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากรณีเขื่อนปากแบง หลังจากที่กลุ่มรักษ์เชียงของได้จัดเวทีให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นในเรื่องการสร้างเขื่อนปากแบบจากผู้นำท้องที่ท้องถิ่น ในพื้นที่ชุมชนอำเภอเชียงของ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงจากน้ำเท้อสูงหลายหมู่บ้านในตัวอำเภอเชียงของตามการศึกษาตามเอกสารโครงการสำรวจภูมิประเทศเพื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม
17 ตุลาคม 2565 กลุ่มรักษ์เชียงของ ได้ส่งหนังสือ นายกรัฐมนตรี ให้ทบทวนกลุ่มรักษ์เชียงของ ส่งหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรีและในฐานะ รมว.กลาโหม รมว.มหาดไทย เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แม่ทัพภาคที่ 3 ผอ.กอ.รมน.จว.เชียงรา ย เรื่องขอให้ติดตามตรวจสอบผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง ต่อการเปลี่ยนแปลงเขตแดนและแผ่นดินริมแม่น้ำโขงระหว่างประเทศไทย และ สปป.ลาว และเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) รมว.การกระทรวงพลังงาน และประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่องขอให้ชะลอการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงใน สปป.ลาว ได้แก่ โครงการเขื่อนปากแบง เขื่อนปากลาย และเขื่อนหลวงพระบาง เนื่องจากทราบว่าร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในโครงการเขื่อนปากแบง อยู่ระหว่างการจัดทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนกับหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจลงนาม ซึ่งการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวมาจากมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่ง ชาติ (กพช.) นั้น อาจส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนอันเนื่องจากการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำ (เขื่อน) บนแม่น้ำโขงโดยปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเพียงพอ ขณะเดียวกันพลังงานไฟฟ้าสํารองของประเทศไทยสูง เกิน 50% และอาจเป็นภาระกับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า
25 ตุลาคม 2565 กลุ่มรักษ์เชียงของ ได้ส่งหนังสือถึงขอเอกสารที่เกี่ยวข้องกรมทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรณีการจัดทำรายงานเกี่ยวกับ“เอกสารโครงการสำรวจภูมิประเทศเพื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม / หน้าตัดลำน้ำ จังหวัดเชียงราย จากการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง สปป.ลาว” โดยกรมทรัพยากรน้ำได้ตอบรับเป็นหนังสือเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 และส่งลิงค์ application ในการการเข้าถึงฐานข้อมูล
28 พฤศจิกายน 2565 กลุ่มรักษ์เชียงของ ได้จัดเวทีให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นชุมชนเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนปากแบงจากผู้นำท้องที่ท้องถิ่นในพื้นที่ ต.บ้านแซว อำเภอเชียงแสน
2566
30 มกราคม 2566 กลุ่มรักษ์เชียงของ ได้ส่งหนังสือร้องเรียนต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบกรณีโครงการเขื่อนปากแบง ขอให้ตรวจสอบผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงเขตแดนระหว่างประเทศไทยและ สปป.ลาว รวมทั้งผลกระทบข้ามพรมแดนด้านต่างๆ จากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง ซึ่งจะสร้างกั้นแม่น้ำโขง บริเวณเมืองปากแบง แขวงอุดมไซ ใน สปป.ลาว เนื่องจากชาวบ้านและกลุ่มอนุรักษ์มีความกังวลใจอย่างยิ่ง จากที่กระทรวงพลังงานของไทย ประกาศว่าจะเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า จากโครงการดังกล่าว
8 มีนาคม 2566 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้มีหนังสือตอบกลับเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง กรณีเขื่อนปากแบงว่า อยู่ระหว่างการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและอยู่ระหว่างการทำรายงานผลกระทบข้ามพรมแดน (Transboundary Impact Assesment) โดย บริษัททีมคอนซัลติ้ง จำกัด
22 มีนาคม 2566 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ส่งหนังสือแจ้งตอบรับว่า ทางสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวตามคำร้องหมายเลขดำ 289/2566 และอยู่ระหว่างกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางเอกสารในขณะนี้
วันที่ 2 พ.ค. 2566 กลุ่มรักษ์เชียงของ ได้เสนอให้กรมทรัพยากรน้ำ จัดเวทีชี้แจงให้ข้อมูลและเสนอแนะการใช้งานข้อมูลของโครงการสำรวจภูมิประเทศเพื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมจังหวัดเชียงราย
การประชุมการชี้แจงให้ข้อมูลและเสนอแนะการใช้งานข้อมูลของโครงการสำรวจภูมิประเทศเพื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมจังหวัดเชียงรายจากการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง สปป.ลาว โดย นายวินัย วังพิมูล วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ กองวิจัย พัฒนาและอุทกวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) พร้อมคณะ เข้าร่วมชี้แจงข้อมูลรายงานการศึกษาและลงพื้นที่เพื่อดูเสาปักระดับน้ำท่วมในพื้นที่ปากน้ำงาว ทั้งนี้มี พ.อ.พักตร์พงษ์ เงสันเที๊ยะ หัวหน้ากลุ่มงานนโยบายแผนและการข่าวฯ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.)จังหวัด นายสุรพงษ์ มาลาวิลาศ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนฯ ปภ.เชียงของ นายอภิธาร ทิพย์ตา นายกเทศมนตรีตำบลม่วงยาย อ.เชียงแก่น นายกษิดิศ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลเวียงเชียงของ นายทองสุข อินทะวงศ์ อดีตผู้ใหญ่บ้าน บ้านห้วยลึก ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น เข้าร่วมการประชุม
วันที่ 29 พฤษภาคม 2566 เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ส่งหนังสือถึงสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เรื่องขอข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน กรณีเขื่อนปากแบง ปากลายและหลวงพระบาง โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือตอบกลับชี้แจงเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566 ระบุว่า การศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนเพิ่มเติมของกรณีเขื่อนปากแบงและปากลายอยู่ในเงื่อนไขของสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) หรือไม่ ทางกฟผ.ชี้แจงว่า สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระบุเงื่อนไขในการนำส่งรายงานผลกระทบข้ามพรมแดนเป็นเงื่อนไขก่อนสัญญามีผลบังคับใช้ (Condition Precedent) และนำส่งรายงานผลกระทบข้ามพรมแดนรายปีจนกว่าจะสิ้นสุดอายุสัญญา ทั้งนี้โครงการมีการจัดทำรายงานเพิ่มเติมก็สามารถนำส่งรายงานตามกรอบเวลาดังกล่าวได้
สำหรับประเด็นที่เครือข่ายฯ ขอทราบรายละเอียดและขั้นตอนกระบวนการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน กรณีเขื่อนปากแบงและเขื่อนปากลายโดยบริษัททีมคอนซัลติ้ง เอ็นจีเนียริ่งกรุ๊ปแอนด์เมเนจเม้นท์จำกัด(มหาชน) เป็นไปตามกฎหมายใด ทางกผฟ.ชี้แจงว่า เนื่องจากผลกระทบข้ามพรมแดนเป็นหน้าที่ของผู้พัฒนาโครงการ และร่างสัญญาฯ โครงการปากแบงและสัญญาฯ โครงการปากลาย ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขให้ผู้พัฒนาโครงการนำส่งหรือแจ้งรายละเอียดและขั้นตอนของกระบวนการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน รวมถึงไม่ได้กำหนดว่าจะต้องระบุกฎหมายที่จะใช้อ้างอิงในการทำการศึกษา ดังนั้นกฟผ.จึงไม่มีข้อมูลดังกล่าว
ในประเด็นที่เครือข่ายฯ ขอทราบเขตการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนของปากแบงและเขื่อนปากลาย และระยะเวลาในการศึกษาผลกระทบนั้น กฟผ.ชี้แจงว่า เนื่องจากการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนเป็นหน้าที่ของผู้พัฒนาโครงการ และร่างสัญญาฯ โครงการปากแบงและสัญญาฯ โครงการปากลาย ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขให้ผู้พัฒนาโครงการนำส่งหรือแจ้งขอบเขตการศึกษาข้ามพรมแดนและระยะเวลาในการศึกษาผลกระทบ กฟผ.จึงไม่มีข้อมูลดังกล่าว
วันที่ 14-15 กันยายน 2566 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยคุณศยามล ไกรยูรวงศ์ และคณะได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังเสียงข้อกังวลและคำถามของชาวบ้านกรณีความชัดเจนของการกักเก็บน้ำและผลกระทบน้ำเท้อจากเขื่อนปากแบงในพื้นที่บ้านสบกก ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน แก่งผาได และพื้นที่เกษตรที่ราบลุ่มน้ำงาว ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น ปากแม่น้ำอิง อ.เชียงของ และจัดเวทีชี้แจงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความคืบหน้ากรณีเขื่อนปากแบง และรับฟังข้อกังวลของประชาชนในพื้นที่จากกรณีเขื่อนปากแบง โดยมีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานรัฐ เช่น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ตัวแทนหน่วยงานระดับท้องถิ่น เช่น นายอำเภอเวียงแก่น นายอำเภอเชียงของ ตัวแทนหน่วยงานความมั่นคง ผู้นำหมู่บ้านและตัวแทนกลุ่มรักษ์เชียงของจำนวน 60 คน เข้าร่วม โดยตัวแทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ชี้แจงว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากรณีเขื่อนปากแบงกับผู้พัฒนาโครงการแล้วในวันที่ 13 กันยายน 2566 สัญญาสัมปทาน 29 ปี ราคารับซื้อ 2.79 บาท ทางคณกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติระบุว่า จะทำหนังสือเร่งด่วนถึงนายกรัฐมนตรีชี้แจงและขอให้ชะลอการซื้อขายไฟฟ้ากรณีโครงการนี้ออกไปก่อน
วันที่ 17 กันยายน 2566 เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ส่งหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ขอให้ทบทวนการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากรณีเขื่อนปากแบง เนื่องจากประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมและความชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบข้ามพรมแดนในพื้นที่ชายแดนไทยลาว เขตอำเภอเวียงแก่น เชียงของ เชียงแสน จังหวัดเชียงราย