เกือบ 3 ทศวรรษแล้ว ที่แม่น้ำโขงของเราเผชิญความเปลี่ยนแปลง นับตั้งแต่เขื่อนแห่งแรกสร้างกั้นสายน้ำที่ตอนบน จวบจนปัจจุบันมีเขื่อนไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงในจีนและลาวเรียงรายกันมากถึง 15 เขื่อนแล้ว ผลกระทบเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศ ปลา วิถีชีวิตของพวกเราเป็นที่ประจักษ์ ชัดเจนและสาหัสมากขึ้นทุกปี โดยที่ไม่มีแนวทางชัดเจนถึงความรับผิดชอบดังกล่าว แต่ประเทศไทยกลับลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากบริษัทเขื่อนอีก 3 แห่ง ได้แก่ ปากลาย หลวงพระบาง และปากแบง
ซึ่งขณะนี้เขื่อนถูกเรียกว่าไฟฟ้าสะอาด และราคาถูก ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง แต่ราคาทั้งหมดนี้ถูกจ่ายด้วยระบบนิเวศที่เสียหาย จ่ายด้วยวิถีชุมชนตลอดลุ่มน้ำที่สูญเสียวิถีชีวิตและแหล่งรายได้ จ่ายด้วยค่าไฟฟ้าที่ประชาชนไทยทุกคนแบกรับภาระในใบเรียกเก็บเงินทุกๆ เดือน แต่พวกเราในฐานะชาวบ้านที่มีชีวิตที่พึ่งพาและปกปักรักษาแม่น้ำโขง กลับไม่ถูกนับรวมอยู่ในการพัฒนาดังกล่าว
เราอยากเห็นแม่น้ำโขงที่สามารถหล่อเลี้ยงนานาชีวิตดังที่เคยเป็นมานับล้านๆ ปี พวกเราขอเรียกร้องรัฐบาลหยุดการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนแม่น้ำโขงทุกแห่ง และทบทวนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของเขื่อนหลวงพระบาง ปากแบง ปากลาย และขอให้ชะลอการก่อสร้างออกไปจนกว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะมีแนวทางและแสดงความรับผิดชอบต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของพวกเราที่ชัดเจนต่อประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขงอย่างพวกเรา และคนไทยทุกคนต้องจ่ายค่าแพง พลังงานจากเขื่อนแม่น้ำโขงไม่มีความจำเป็นต่อประเทศไทย และพวกเราอยากเห็นการวางแผนการพัฒนาไฟฟ้าที่รับผิดชอบ คำนึงถึงประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคนเท่าเทียมกันกับนักลงทุนเอกชนรายใหญ่ อยากเห็นความรับผิดชอบข้ามพรมแดน มีความโปร่งใสและเป็นธรรม
พวกเราขอย้ำว่า ไฟฟ้าจากเขื่อนไม่ใช่พลังงานสะอาด แต่มีต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพและวิถีชีวิตของชุมชน
เพื่อสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสิทธิของแม่น้ำร่วมกัน
6 กุมภาพันธ์ 2567