คำประกาศแม่น้ำโขง

ณ โฮงเฮียนน้ำของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย
10 ธันวาคม 2566

วันนี้พวกเราลูกหลานแม่น้ำโขง พร้อมด้วยมวลมิตร จากหลากหลายลุ่มน้ำ เช่น สาละวิน แม่น้ำยม อิระวดี เจ้าพระยา ฯลฯ ได้มารวมกันเพื่อหารือ แลกเปลี่ยนข้อมูล สถานการณ์ และมิตรไมตรี

เกือบ 3 ทศวรรษแล้ว ที่แม่น้ำโขงของเราเผชิญความเปลี่ยนแปลง นับตั้งแต่เขื่อนแห่งแรกสร้างกั้นสายน้ำที่ตอนบน จวบจนปัจจุบันมีเขื่อนไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงในจีน เรียงรายกันถึง 13 เขื่อน และสามปีก่อน เขื่อนไซยะบุรีก็กั้นสายน้ำโขง ต่อมาคือเขื่อนดอนสะโฮง

แม่น้ำโขงมิใช่รางน้ำ ท่อส่งน้ำ แต่คือกระแสธาราที่หล่อเลี้ยงชีวิต หล่อเลี้ยงลูกหลานนานาสายพันธุ์ตลอดลำน้ำ นับตั้งแต่หิมะละลายบนที่ราบสูงทิเบต ไหลผ่านโตรกเขา ภูเขาน้อยใหญ่ มีลำน้ำสาขาน้อยใหญ่เป็นดังแขนง พื้นที่ชุ่มน้ำ ป่า ทุ่งนา แปลงเกษตร ทะเลสาบเขมร แม่น้ำโขงไหลผ่านที่ราบ ลงสู่ทะเล ผ่านพื้นที่ซึ่งปัจจุบันคือ 6 ประเทศ ได้แก่จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม

ระหว่างวันที่ 9-10 ธันวาคม ได้มีการจัดงานฮอมปอยศรัทธาแม่น้ำโขง มีหลายส่วนเข้าร่วมทั้งชุมชน ผู้แทนสถานทูต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ เยาวชน กลุ่มสตรี ผู้เฒ่าผู้แก่ ฯลฯ โดยได้รับฟังเสียงสะท้อนโดยเฉพาะชุมชนริมแม่น้ำโขงที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบหากมีการสร้างเขื่อนปากแบงกั้นแม่น้ำโขงในลาวห่างจากชายแดนไทยเพียงกว่า 90 กม. เสียงสะท้อนอันเจ็บปวดและน้อยใจของชาวบ้านที่ไม่ได้รับการเหลียวแลใดๆ ทั้งในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลและกระบวนการมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ทำให้มีข้อเสนอในการจัดการทรัพยากรแม่น้ำโขง และต้องให้มีการหาทางออกร่วมกัน ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรรับฟังประชาชนในทันที

เมื่อแม่น้ำโขงถูกควบคุมโดยเขื่อนไฟฟ้า กระแสธาราก็เปลี่ยนแปลง ระดับน้ำโขงที่เคยขึ้นลงตามฤดูกาลน้ำหลากน้ำแล้ง ก็แปรเปลี่ยนอย่างสาหัส เกิดน้ำหลากในหน้าแล้ง ส่วนหน้าฝนกลับเกิดน้ำแห้ง สิ่งเหล่านี้รบกวนระบบนิเวศแม่น้ำโขงอย่างรุนแรง พันธุ์ปลาที่อพยพตามฤดูกาลได้รับผลกระทบ ประมงแม่น้ำโขงเสียหาย สรรพชีวิตต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงที่ตนเองไม่ได้เลือก

ผลกระทบจากเขื่อนเป็นที่ประจักษ์ ชัดเจน กว้างขวาง แต่ประเทศไทยกลับลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากบริษัทเขื่อนอีก 3 แห่ง ได้แก่ ปากลาย หลวงพระบาง และปากแบง ซึ่งเป็นการร่วมทุนของเอกชนจีน ไทย ซึ่งขณะนี้เขื่อนถูกเรียกว่าไฟฟ้าสะอาด และราคาถูก ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง แต่ราคาทั้งหมดนี้ถูกจ่ายด้วยระบบนิเวศที่เสียหาย จ่ายด้วยชุมชนตลอดลุ่มน้ำที่สูญเสียวิถีชีวิตและแหล่งรายได้ จ่ายด้วยค่าไฟฟ้าที่ประชาชนไทยทุกคนแบกรับภาระในใบเรียกเก็บเงินทุกๆ เดือน

เราอยากเห็นแม่น้ำโขงที่สามารถหล่อเลี้ยงนานาชีวิตดังที่เคยเป็นมานับล้านๆ ปี อยากเห็นการวางแผนการพัฒนาไฟฟ้าที่รับผิดชอบ คำนึงถึงประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคนเท่าเทียมกันกับนักลงทุนเอกชนรายใหญ่ อยากเห็นความรับผิดชอบข้ามพรมแดน มีความโปร่งใสและเป็นธรรม

เขื่อนไม่ใช่พลังงานสะอาด
เพื่อสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสิทธิของแม่น้ำ

More to explorer

สำรวจพื้นที่ 2 โครงการยักษ์เขื่อนกั้นแม่น้ำโขง พบการก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบางคืบหน้าไปมาก-กั้นลำน้ำโขงแล้วเกือบครึ่ง-อพยพชาวบ้านแล้วบางส่วน ชาวบ้านน้ำตาตกวัด-พระพุทธรูปเก่าต้องอยู่ใต้น้ำ ขณะที่เขื่อนปากแบงยังไม่ได้ลงมือก่อสร้างใดๆ นักอนุรักษ์-นักกฎหมายจี้ตอบคำถามผลกระทบข้ามแดน