สมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน
จ.แม่ฮ่องสอน
28 มิถุนายน 2562
เรื่อง คัดค้านกระบวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และงานสำรวจ ออกแบบ
สำหรับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล
เรียน เลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สำเนาถึง อธิบดีกรมชลประทาน
ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สืบเนื่องจากมีการจัดประชุมกลุ่มย่อย ในงานสำรวจ ออกแบบ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “โครงการผันน้ำ” ) ในวันที่ 29 เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ณ วัดบ้านสบเงา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน นั้น เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน ซึ่งทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีส่วนร่วม มามากว่า 20 ปี รู้สึกกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อกระบวนการศึกษาและเปิดเผยข้อมูล ที่กำลังดำเนินการโดย บริษัท ปัญญาคอนซัลแตนท์ จํากัด
หลังจากเสร็จสิ้นเวทีดังกล่าว ทางเครือข่ายฯได้หารือร่วมกับสมาชิกเครือข่ายแต่ละลุ่มน้ำและมีข้อสังเกตต่อโครงการผันน้ำและกระบวนการที่ผ่านมา ดังนี้
- เกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมจากโครงการ ซึ่งประกอบด้วยโครงสร้างต่างๆ อาทิ เขื่อนแม่น้ำยวม ถังพักน้ำ อุโมงค์ส่งน้ำ ฯลฯ โครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและกว้างขวาง และยังจะส่งผลกระทบต่อแม่น้ำเมยและสาละวิน อันเป็นเขตพรมแดนไทย-พม่า อันจะส่งผลกระทบไปยังประชาชนฝั่งพม่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มากกว่านั้นทางเครือข่ายฯ มีความกังวลว่า ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมจะไม่สามารถแก้ไขกลับคืนได้ โดยมีตัวอย่าง ดังนี้
1.1 เขื่อนกั้นแม่น้ำยวม ขนาดความสูง 69.50 เมตร ความยาวสันเขื่อน 144.50 ม.รทก. จะทำลายระบบนิเวศแม่น้ำยวมและแม่น้ำเงา ซึ่งเป็นแม่น้ำสายท้ายๆ ในประเทศไทย ที่ไหลผ่านป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีปริมาณประชากรและการรบกวนจากมนุษย์น้อยมาก แม่น้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความเปราะบางและมีคุณค่าเช่นนี้ควรได้รับการอนุรักษ์มากกว่าการทำลาย
1.2 ผลกระทบที่สำคัญต่อพื้นที่ป่าไม้: ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนและอาคารประกอบ จะทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าไม้ 210 ไร่ และเป็นพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1เอ และ 1บี ผลกระทบที่สำคัญจากการสร้างอ่างเก็บน้ำยวม คือ จะส่งผลกระทบต่อป่าสงวนแห่งชาติ 2,075 ไร่ ท่วมตลิ่งฝั่งซ้ายขวาของแม่น้ำยวม 1,362.5 ไร่ และเป็นพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1เอ และ 1บี ผลกระทบสถานีสูบบ้านสบเงา ใช้พื้นที่ป่า 55.63 ไร่ ส่วนระบบอุโมงค์โดยลอดผ่านพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแม่เงา ป่าสงวนแห่งชาติ และบางส่วนลอดผ่านพื้นที่ชั้นคุณภาพชุ่มน้ำชั้น 1เอ (ข้อมูลจากเอกสารประกอบการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการ) ซึ่งพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ชั้นที่ 1เอ มติคณะรัฐมนตรีกำหนดห้ามมิให้มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะพื้นที่ป่าไม้เป็นรูปแบบอื่นอย่างเด็ดขาดทุกกรณี ทั้งนี้เพื่อรักษาไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ชั้นที่ 1บี มติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้ในกรณีที่ต้องมีการก่อสร้างถนนผ่าน หรือการทำเหมืองแร่ หน่วยงานรับผิดชอบจะต้องควบคุมการชะล้างพังทลายของดิน และกรณีส่วนราชการใดมีความจำเป็นที่ต้องใช้ที่ดินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องจัดทำรายงานการเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อพิจารณาต่อไป
1.3 อุโมงค์ส่งน้ำคอนกรีต เส้นผ่าศูนย์กลาง 6.8 เมตร ความยาว 61.79 กิโลเมตร จาก บ้านสบเงา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ถึงลำห้วยแม่งูด ต.นาคอเรือ จ.เชียงใหม่ ต้องมีการขุดเจาะผ่านป่าสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำชั้น 1 A ที่เป็น ป่าสมบูรณ์บริเวณรอยต่อ 3 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และตาก
1.4 จุดทิ้งกองวัสดุ 6 แห่ง จะเกิดกองดิน หิน และวัสดุต่างๆ จากการขุดเจาะ เป็นปริมาณถึง 8,759,870 ลูกบาศก์เมตร ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อป่าลุ่มน้ำชั้น 1 เอ ตลอดระยะทางอุโมงค์ จะเป็นอย่างไร มีมาตรการบรรเทาและลดผลกระทบอย่างไร
1.5 โครงการนี้เป็นการผันน้ำจากแม่น้ำยวม ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาสำคัญของแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติ จะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในแม่น้ำสาละวิน และก่อนหน้านี้เคยมีความกังวลจากประชาชนในพม่า โดยเฉพาะพื้นที่ท้ายน้ำในรัฐมอญและกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่อาศัยลุ่มน้ำสาละวินในฝั่งพม่า รวมทั้งเคยมีการหยิบยกมาอภิปรายในรัฐสภาของพม่าถึงข้อห่วงกังวลสำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
- เกี่ยวกับความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์ โครงการผันน้ำ ไม่มีความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์ มูลค่าต้นทุนของการก่อสร้างโครงการ ที่ระบุในเอกสาร คือ 70,700 ล้านบาท ค่าดำเนินการบำรุงรักษา 328 ล้านบาทต่อปี ค่าพลังงานไฟฟ้าสูบน้ำ 2,985 ล้านบาทต่อปี ซึ่งปริมาณน้ำผันที่จะได้จากโครงการเฉลี่ยปีละ 1,795.25 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ความต้องการทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาประมาณ 20,415 ลูกบาศก์เมตรต่อปี อันเป็นความแตกต่างระหว่างปริมาณน้ำที่ได้กับปริมาณน้ำที่ต้องการซึ่งไม่สามารถตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ และมากไปกว่านั้นโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ต้องใช้ไฟฟ้าสูบซึ่งจะทำให้ความคุ้มทุนแทบไม่มี อันจะเป็นการผลักภาระไปให้ประชาชนต่อไป
- การมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินโครงการ ในการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมีการดำเนินการที่ไม่ครอบคลุม และไม่เพียงพอ มีการให้ข้อมูลที่ไม่เพียงพอ การนำเสนอข้อมูลและเอกสารเผยแพร่ไม่ได้ใช้ภาษาท้องถิ่นของผู้มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบทำให้ไม่อาจเข้าใจได้อย่างแท้จริง อันเป็นอุปสรรคในการแสดงความคิดเห็น
นอกจากนี้ ทางเครือข่ายฯเห็นว่า ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการยังมีการให้ไม่ครบถ้วน ทางเครือข่ายจึงขอให้ท่านส่งข้อมูลเกี่ยวกับโครงการทั้งหมดให้แก่เครือข่าย เพื่อจะได้ทราบถึงโครงการและให้ความเห็นแก่โครงการได้ นอกจากนี้ ขอให้ท่านชี้แจงกระบวนการดำเนินโครงการดังกล่าวในระยะต่อไปแก่เครือข่ายฯ ว่า มีแผนจะดำเนินการทำอย่างไรต่อไป และที่ผ่านมาได้ดำเนินการใดไปแล้ว รวมถึงการดำเนินการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ว่า ได้ดำเนินการไปเมื่อไหร่อย่างไร มีการจัดการเวที, การเก็บข้อมูล, และทำความเข้าใจให้กับชาวบ้านกี่ครั้ง ที่ไหน อย่างไร โดยชี้แจงหัวข้ออะไร และดำเนินการไปแต่ละครั้งแล้ว มีผู้เข้าร่วมจำนวนเท่าไหร่ จากชุมชนไหน
จากข้อกังวลต่าง ๆ ที่เครือข่ายฯ ได้เรียนมาข้างต้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านจะรับฟังและให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลต่างๆที่ร้องขอ โดยขอให้ท่านตอบกลับและส่งเอกสารที่ร้องขอดังกล่าวข้างต้นไปยังเครือข่ายตามที่อยู่ข้างต้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ท่านได้รับหนังสือฉบับนี้ อันเป็นไปตามสิทธิแห่งรัฐธรรมนูญในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารโครงการที่อาจจะได้รับผลกระทบ และปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ต่อไป
จึงเรียนมาเพื่อทราบและโปรดพิจารณาดำเนินการตามขอ หวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากท่านด้วยดี
ขอแสดงความนับถือ
เครือข่ายเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำสาละวิน