จดหมายขอให้ระงับการก่อสร้างเขื่อนปากแบง และขอให้ดำเนินการประเมินผลกระทบต่อชุมชน เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม และจัดทำแผนเยียวยาผลกระทบในพื้นที่ อ.เวียงแก่น อ.เชียงของ จ.เชียงราย

กลุ่มรักษ์เชียงของและเครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำโขง

 อ.เชียงของ -อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย

260 ม.1 ตำบลหัวเวียง อำเภอเชียงของ จ.เชียงราย 57140

10 กันยายน 2567

เรื่อง      ขอให้ระงับการก่อสร้างเขื่อนปากแบง และขอให้ดำเนินการประเมินผลกระทบต่อชุมชน เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม และจัดทำแผนเยียวยาผลกระทบในพื้นที่ อ.เวียงแก่น อ.เชียงของ จ.เชียงราย

เรียน     นายกรัฐมนตรี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ

ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย

เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สิ่งที่ส่งมาด้วย

  1. ภาพน้ำท่วมพื้นที่น้ำงาว
  2. รายชื่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ เขตต.ม่วงยายและต.หล่ายงาว อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย
  3. ภาพน้ำท่วมพื้นที่เกษตรบ้านปากอิงใต้
  4. กราฟระดับน้ำโขงที่อ.เชียงของ (เสาระดับน้ำ หน้าตามิละเก้สเฮ้าส์)
  5. กราฟระดับน้ำงาว ที่สถานีหล่ายงาวของกรมทรัพยากรน้ำ วันที่ 1-9 สิงหาคม 2567

เนื่องด้วยปรากฎฝนตกหนักต่อเนื่องตลอดเดือนสิงหาคม ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนบน ใน 3 ประเทศได้แก่ ประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่ จ.เชียงราย และพะเยา สปป.ลาว และเมียนมา ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม 2567 นั้น ได้ส่งผลให้เกิดน้ำหลากทั้งในลำน้ำโขงและลำน้ำสาขาเพิ่มระดับขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่วันที่ 2 และคงระดับสูงต่อเนื่องจนมีระดับสูงสุดอีกครั้งในช่วงวันที่ 25-26 สิงหาคม ระดับน้ำโขงที่คงระดับสูง ได้หนุนและบางส่วนไหลย้อนกลับเข้าไปในลำน้ำสาขา เช่น น้ำงาว, น้ำอิง, น้ำกก เป็นต้น

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ปริมาณฝนที่ตกสะสมในพื้นที่ลุ่มน้ำงาว, ลุ่มน้ำอิง และลุ่มน้ำกก ได้เริ่มเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชนตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคมเป็นต้นมา และไม่สามารถระบายลงสู่แม่น้ำโขงได้เนื่องจากแม่น้ำโขงยังคงระดับสูง ส่งผลให้ท่วมพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชนเป็นจำนวนหลายหมื่นไร่ เช่น ในพื้นที่ลุ่มน้ำงาว เขตต.ม่วงยายและต.หล่ายงาว อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย , ในพื้นที่ลุ่มน้ำอิง ตั้งแต่กว๊านพะเยา จ.พะเยา และเขตจ.เชียงราย จนไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่ บ้านปากอิงใต้ อ.เชียงของ , ในพื้นที่ลุ่มน้ำกก ของ จ.เชียงราย และยังไม่นับรวมความเสียหายต่อระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ จากการติดตามตรวจวัดระดับน้ำโขงในวันที่ 4 สิงหาคม ในพื้นที่ แก่งผาได, ปากน้ำงาว, ปากน้ำอิง และอ.เชียงของ พบว่าระดับน้ำโขงมีระดับใกล้เคียงระดับน้ำสูงสุดที่ระดับ 345.6, 347.3, 349.21 และ 350.8 เมตร รทก. (เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง) ตามลำดับ และระดับน้ำโขงมีสูงสุดอีกครั้งในช่วงวันที่ 25-26 สิงหาคม  ในพื้นที่ แก่งผาได, ปากน้ำงาว, ปากน้ำอิง พบว่าระดับน้ำโขงได้ท่วมเสาวัดระดับน้ำ จนไม่สามารถอ่านค่าได้ และอ.เชียงของ วัดระดับน้ำได้ที่ 351.75 และ 352.02 เมตร รทก. ตามลำดับ

ปรากฎการณ์น้ำโขงหลากในระดับสูงครั้งนี้ กล่าวได้ว่า สาเหตุหลักเกิดจากปริมาณฝนที่ตกหนักต่อเนื่อง และปริมาณน้ำจากลำน้ำสาขา โดยเฉพาะแม่น้ำอิงและแม่น้ำงาว งาวที่ไหลมาจากต้นน้ำ จนท่วมหากพื้นที่เป็นวงกว้างในหลายอำเภอของ จ.เชียงราย และจ.พะเยา

ปรากฎการณ์ดังกล่าวนี้ ได้สร้างความกังวลใจต่อชุมชนเป็นอย่างยิ่ง ทั้งชุมชนที่อาศัยติดแม่น้ำโขง และตามลำน้ำสาขา ในเขต อ.เวียงแก่น และ อ.เชียงของ จ.เชียงรายเป็นอย่างมาก เนื่องจากในปัจจุบัน มีการลงนามซื้อขายไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบงไปแล้วตั้งแต่วันที่ 13 เดือนกันยายน 2566 และกำลังอยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้างใน สปป.ลาว ขณะนี้ โดยที่ผ่านมาหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ได้แก่ คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย, กรมทรัพยากรน้ำ, สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, กระทรวงพลังงาน, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัดนั้น ยังไม่เคยให้ข้อมูลเกี่ยวกับระดับน้ำเท้อจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนปากแบ่ง เก็บกักที่ระดับ 340 เมตร รทก. โดยขอบเขตอ่างเก็บน้ำจะสิ้นสุดที่อำเภอเชียงของ

แต่ไม่ปรากฎว่ามีการดำเนินการประเมินผลกระทบต่าง ๆ ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานของไทยโดยตรง การดำเนินการที่ผ่านมา มีเพียงกรมทรัพยากรน้ำมาดำเนินการติดตั้งเสาหลักระดับตามลำน้ำโขง จากแก่งผาไดขึ้นไปถึงอ.เชียงแสน ในปี 2562 เพื่อดูพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมเท่านั้น  และยังรวมถึงรายงานของบริษัทต้าถังฯ (Datang(Lao) Pak Beng Hydropower Co.,Ltd.) ในเรื่อง Reservoir Sedimentation and Backwater ซึ่งเผยแพร่ผ่านเวปไซด์ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงมาตั้งแต่ปี 2558 ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลระดับน้ำเท้อไว้นั้น ก็ไม่ปรากฎว่ากรมทรัพยากรน้ำซึ่งรับผิดชอบในขณะนั้น ได้นำผลการศึกษาระดับน้ำเท้อมาเผยแพร่ต่อชุมชนที่จะได้รับผลกระทบ หรือดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลนี้แต่ประการใด ซึ่งรวมถึงในกระบวนการ PNPCA ในระหว่างเดือนมกราคม ถึงมิถุนายน 2560 ก็ไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลนี้ให้ชุมชนได้รับทราบแต่อย่างใด

จากการตรวจสอบข้อมูลการวิเคราะห์ระดับน้ำเฉลี่ยและระดับน้ำเท้อของ บริษัทต้าถัง ซึ่งระบุว่า ระดับน้ำเฉลี่ยปกติในเดือนสิงหาคม ที่ แก่งผาได, ปากงาว, ปากอิง และเชียงของ เท่ากับ 340.72,   342.41, 344.33, 347.29 เมตร รทก. ตามลำดับ และระดับน้ำเท้อจากเขื่อนปากแบ่งที่ แก่งผาได, ปากงาว, ปากอิง และเชียงของ เท่ากับ 342.99, 343.88, 345.16, 347.47 เมตร รทก. ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลระดับน้ำในวันที่ 4 สิงหาคม 2567 พบว่ามีความไม่ถูกต้องในระดับที่สูงมาก โดยเฉพาะระดับน้ำสูงสุดมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน กล่าวคือระดับน้ำที่ แก่งผาได, ปากงาว, ปากอิง และเชียงของ สูงกว่าระดับน้ำโขงเฉลี่ยปกติ เท่ากับ 4.88, 4.89, 4.88 และ 3.51 เมตร ตามลำดับ และสูงกว่าระดับน้ำเท้อที่บริษัทต้าถังได้นำเสนอไว้เท่ากับ 2.61, 3.42, 4.05 และ 3.33 เมตร ตามลำดับ และในวันที่ 26 สิงหาคม ระดับน้ำที่เชียงของได้สูงกว่าระดับน้ำเท้อที่บริษัทต้าถังนำเสนอไว้ถึง 4.55 เมตร

นอกจากนี้ ระดับน้ำเท้อจะมีสภาพเป็นระดับน้ำต่ำสุดของแม่น้ำโขงในแต่ละเดือนตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายน ส่งผลให้ความจุในลำน้ำโขงลดลงไปโดยอัตโนมัติ เมื่อมีน้ำหลากเข้ามาดังเช่นต้นเดือนสิงหาคมของปีนี้ ระดับน้ำสูงสุดจะสูงกว่าระดับน้ำโขงที่เป็นอยู่ และใช้เวลานานขึ้นในการระบายน้ำทั้งในลำน้ำโขงและลำน้ำสาขา

และถึงแม้ว่าในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคม เขื่อนปากแบ่งจะลดระดับเก็บกักลงมาเหลือ 335 เมตร รทก. เพื่อลดการท่วมแก่งผาไดและพื้นที่เกษตรริมฝั่งแม่น้ำโขงและสาขา แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีหน่วยงานใด ได้ศึกษาวิเคราะห์ถึงความเหมาะสมของดินและพืช เพื่อการเพาะปลูกในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังมานานถึง 6 เดือน อีกทั้งช่วงเวลาที่น้ำลดลงนั้น ยังเป็นช่วงเวลาที่ไม่สอดคล้องกับปฎิทินการทำการเกษตรของชุมชน ซึ่งต้องเตรียมพื้นที่ตั้งเดือนตุลาคมของทุกปี

ด้วยข้อมูลและสถานการณ์ทั้งหมดข้างต้นนี้ เครือข่ายชุมชนในพื้นที่ อ.เวียงแก่น , อ.เชียงของ จ.เชียงราย ใคร่ขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงที่ได้กล่าวมาข้างต้น ได้ดำเนินการโดยการมีส่วนร่วมของเครือข่ายชุมชนและภาคประชาสังคม ก่อนการลงนามสัญญาสินเชื่อและดำเนินการก่อสร้างสร้างเขื่อนปากแบ่ง ดังนี้

  1. การสร้างแบบจำลองเพื่อประเมินระดับน้ำเท้อทั้งในแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา ภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันและคนละช่วงเวลา ได้แก่ การระบายน้ำจากเขื่อนจินหงสูงสุด, ปริมาณฝนตกมากที่สุดที่เคยมีการบันทึกไว้ และปริมาณน้ำหลากสูงสุดในลุ่มน้ำกก, ลุ่มน้ำอิงและลุ่มน้ำงาว
  2. การจัดทำขอบเขตพื้นที่น้ำท่วม และระยะเวลาการระบายน้ำจนกว่าเข้าสู่สภาวะปกติ จากสถานการณ์ในข้อ 1
  3. การประเมินผลกระทบต่อชุมชน, เศรษฐกิจ, พื้นที่เกษตรกรรมและสิ่งแวดล้อม จากสถานการณ์ในข้อ 1
  4. แผนการเฝ้าระวังและเผชิญเหตุ, แผนการแก้ไขปัญหา และแผนการเยียวยาผลกระทบต่าง ๆที่จะเกิดขึ้นจากผลกระทบข้ามพรมแดน  
  5. การทำหลักแสดงระดับน้ำในลุ่มน้ำงาวและลุ่มน้ำอิง ตามลำน้ำทุก ๆ ระยะ 500 เมตร เป็นระยะทางอย่างน้อย 10 กิโลเมตร

เครือข่ายชุมชนในพื้นที่ อ.เวียงแก่น , อ.เชียงของ จ.เชียงราย ใคร่ขอให้หน่วยงานของท่าน ได้พิจารณาดำเนินการโดยเร็วที่สุด เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชุมชนในเขตประเทศไทย ที่ได้รับผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการเขื่อนปากแบ่ง

ขอแสดงความนับถือ

(……………………………………………)

More to explorer

จดหมายเรียกร้องธนาคารผู้ให้สินเชื่อเขื่อนไซยะบุรี ติดตามบริษัทให้เปิดเผยความคืบหน้ารายงานมาตรการลดผลกระทบด้านการประมง การฟื้นฟูชีวิตและเศรษฐกิจของผู้อพยพโยกย้ายและแผนบรรเทาภาวะฉุกเฉินจากการบริหารจัดการเขื่อนไซยะบุรี

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัดยื่นจดหมายถึง รมว.พลังงาน-ร้องทบทวนการนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศในแผนพีดีพี 2024 ชี้เพิ่มภาระต้นทุนค่าไฟ ย้ำปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรง