คำชี้แจงของเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ต่อคำแถลงของโฆษกสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ว่าด้วยคำวิพากษ์วิจารณ์ที่เกี่ยวกับจีนในปัญหาน้ำแม่น้ำโขง

6 กรกฎาคม2562 

ตามที่สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย มีคำแถลงเกี่ยวกับปัญหาน้ำแม่น้ำโขง ว่าเป็นไปด้วยคำวิพากษ์วิจารณ์จีนอันเป็นเท็จ ไม่มีหลักฐานและไม่ตรงกับข้อเท็จจริง มองข้ามความพยายามของแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องซึ่งรวมถึงจีนและไทยในการผลักดันความร่วมมือในด้านทรัพยากรน้ำแม่น้ำโขง ทำลายบรรยากาศความร่วมมืออันดีในอนุภูมิภาคฯ นั้น 

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง มีคำขี้แจงทั้ง 4 ข้อดังต่อไปนี้
1. เกี่ยวกับการอนุรักษ์ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมแม่น้ำโขง 

ตอบ ภายใต้ทรัพยากรแม่น้ำโขง ที่ประชาชนใช้ร่วมกันมาตั้งแต่อดีต ได้รับการจัดการอย่างเป็นธรรมในทุกประเทศ จากระบบของธรรมชาติ เป็นทรัพยากรร่วมของประชากลุ่มต่างๆ ทั้งหาปลา เดินเรือ การเกษตร แหล่งน้ำบริโภคอุปโภค ฯลฯ

แต่เมื่อเกิดแนวคิดในการพัฒนาแม่น้ำโขง โดยโครงกรพัฒนาขนาดใหญ่ต่างๆ เช่น การสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา การระเบิดเกาะแก่งเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ ฯลฯ เราพบว่าทรัพยากรแม่น้ำโขงถูกทำลายและถูกจัดการอย่างไม่เป็นธรรม โดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่เข้ามาหาประโยชน์จากทรัพยากรร่วมนี้ 

สิ่งที่เราเผชิญคือ การแย่งชิงทรัพยากรจากประชาชนท้องถิ่น ไปสู่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ 

โครงการทางรถไฟจีนลาว “ทางสีเขียว” เป็นเพียงแนวคิดที่ยังไม่เห็นรูปธรรม ว่าจะไม่ทำลายทรัพยากรและวิถีชีวิต ตลอดจนเศรษฐกิจของประชาชนได้จริงหรือไม่ ในขณะที่ดำเนินการอยู่นี้ โครงการฯ กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณะเกี่ยวกับผลกระทบอย่างกว้างขวาง

สิ่งที่เป็นสีเขียวอยู่แล้ว ฐานทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์อยู่แล้ว กลับถูกกระทำโดยโครงการพัฒนาต่างๆ 

นี่อาจเป็นข้อย้อนแย้งของ “แผนโครงการแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงสีเขียวไร้มลภาวะ”

2. เกี่ยวกับข่าวที่เรียกว่า “การระเบิดแก่งหิน” 

ตอบ โครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง หรือโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ แม่น้ำล้างช้าง-แม่น้ำโขง ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ พศ. 2543 ตามข้อตกลงการเดินเรือเสรี ที่ 4 ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนบนได้ลงนาม โดยมีโครงการการระเบิดเกาะแก่งเป็นส่วนหนึ่ง 

จวบจนปัจจุบัน โครงการได้ถูกดำเนินการไปแล้วที่แม่น้ำโขงตอนนบน ในจีน และพรมแดนพม่า-ลาวลงมาจนถึงสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวสร้างผลกระทบด้านต่่างๆ ต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขง และวิะีชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ท้ายน้ำ 

รัฐบาลไทยในช่วงที่ผ่านมา พศ. 2546- 2547 ได้ตัดสินใจชะลอโครงการ เนื่องจากเหตุผลด้านความมั่นคง และผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม อย่างไรก็ตามโครงการนี้ได้ฟื้นกลับมาอีกครั้งเมื่อมีการนำเสนอในที่ประชุมกรอบความร่วมมือแม่น้ำล้านช้างแม่น้ำโขง (LMC) โดยรัฐบาลจีน ประเทศไทยได้ยอมรับให้มีการสำรวจออกแบบ ในพื้นที่พรมแดนไทยลาว เป็นระยะทาง 97 กิโลเมตร 

เครือข่ายฯ เห็นว่าการตัดสินใจในการสำรวจเกาะแก่ง หิน ผา หาด ดอน เพื่อการปรับปรุง ระเบิด และขุดลอก เป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และผลประโยชน์ โดยครบถ้วนในทุกมิติ ครอบคลุมถึงผลกระทบข้ามพรมแดน แต่รัฐบาลกลับอนุญาตให้มีการสำรวจ โดยไม่คำนึงถึงประเด็นที่อ่อนไหว จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจีนไม่ได้หยุดยั้งในการผลักดันโครงการปรับปรุงร่องน้ำฯ แต่อย่างใด  

ในเวทีให้ข้อมูลในเดือนมกราคม ที่ อ.เวียงแก่น อ.เชียงของ และอ.เชียงแสน จ.เชียงราย ประชาชนที่เข้าร่วมต่างแสดงความกังวลต่อโครงการฯ โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า การสำรวจออกแบบเพื่อปรับปรุงแก่งหิน 13 จุด เห็นในรูปในแผนที่ เป็นเพียงก้อนหินเล็กๆ แต่หากไปดูที่แม่น้ำโขง จะได้เห็นว่าแก่งเหล่านี้มีขนาดใหญ่ เอกสารบอกว่าย้ายหิน ซึ่งก็คือการระเบิดหิน นั่นเอง แผนการขุดลอกแม่น้ำโขง รวมระยะทาง 6 กม. เป็นปริมาณหินมากถึง 20,000 ตัน 

ผู้เข้าร่วมในเวทีชี้ว่าเป็นความไม่เข้าใจ ระหว่างมุมมองทางวิศวกรรม และธรรมชาติ เอกสารระบุว่า ระเบิดหินออกเอาไปไว้ริมตลิ่ง ถมแอ่งน้ำลึก แต่สำหรับประชาชนเรารู้ว่านั่นคือคก คือวังน้ำลึก คือระบบนิเวศสำคัญที่ปลาอาศัยอยู่ และหมายถึงฐานทรัพยากรของชุมชน เรือใหญ่มาไม่ได้วิ่งวันเดียว แต่จะวิ่งทุกวัน เอกสารบอกชัดเจนว่า ประชาชนไม่เห็นด้วยมาสิบกว่าปีแล้ว 

นอกจากนี้ในเวที ยังมีการแสดงความคิดเห็นถึงผลประโยชน์ของโครงการ ที่จะตกอยู่กับแค่บางคนบางกลุ่ม พี่น้องประชาชนไม่ได้อะไร ปัจจุบันเราอยู่แบบนี้สมดุลแล้ว คนเล็กคนน้อยก็อยู่ได้ หากมีการดำเนินโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง ความเดือดร้อนไม่ใช่แค่ประชาชนที่ประเทศไทย แต่ยาวไปตลอดสายน้ำ


3. เกี่ยวกับบทบาทของสถานีกำเนิดไฟฟ้าแบบขั้นบันได 

ตอบ “สถานีกำเนิดไฟฟ้าแบบขั้นบันได” เรียกให้ชัดเจนคือ เขื่อนแม่น้ำโขงตอนบน ในมณฑลยูนนาน ซึ่งสร้างไปแล้วถึง 10 เขื่อน 

ความผันผวนของระดับน้ำแม่น้ำโขงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมานั้น หากมองย้อนหลังจากสถิติก่อนการสร้างเขื่อน ไม่เคยมีความผันผวนของแม่น้ำโขง ระดับน้ำที่ขึ้นลง เป็นไปตามฤดูกาลแล้งและฝน แต่เมื่อมีเขื่อนสร้างกั้นแม่น้ำโขงตอนบน ก็เห็นได้ชัดว่าระดับแม่น้ำโขงทางท้ายน้ำ โดยเฉพาะบริเวณพรมแดนไทยลาว ไม่เป็นไปตามฤดูกาล แต่ขึ้นกับการควบคุมน้ำของเขื่อนในจีน มาตลอดระยะเวลา 20 ปี 

การปล่อยน้ำในหน้าแล้ง กักเก็บน้ำในหน้าฝน “ปรับลดน้ำท่วม เพิ่มน้ำหน้าแล้ง” นับเป็นการคิดที่วิปริต และขัดแย้งต่อธรรมชาติเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากโดยวงจรธรรมชาติ ในฤดูฝนแม่น้ำโขงต้องท่วมหลาก สิ่งมีชีวิต ปลา ฯลฯ ต้องว่ายมุ่งสู่ลำน้ำโขงตอนบนและลำน้ำสาขา เพื่อวางไข่ ขยายพันธุ์ เมื่อเขื่อนตอนบนปรับลดระดับน้ำในฤดูฝน ทำให้วงจรของสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำโขงมีปัญหา พื้นที่ชุ่มน้ำไม่สามารถมีน้ำหลาก ส่งผลกระทบต่อเนื่อง 

การกักเก็บน้ำของเขื่อนในฤดูฝน ทำให้ตะกอนแร่ธาตุ ที่เป็นหัวใจของความอุดมสมบูรณ์ในแม่น้ำโขง ถูกกักเก็บ หายไปจากระบบแมน้ำโขง

การเพิ่มปริมาณน้ำในหน้าแล้ง ยิ่งเป็นการกระทำที่สร้างผลกระทบใหญ่หลวงต่อแม่น้ำโขงตอนล่าง เป็นประโยชน์ของจีนโดนตรงในการเดินเรือพาณิชย์ เพื่อการค้าขาย 

ระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นในฤดูแล้ง สร้างความเสียหายยับเยินต่อระบบนิเวศ และวิถีชีวิตของประชาชน ไปจนถึงปลายน้ำ เกาะ แก่ง หิน ผา หาด ดอน ที่เคยโผล่พ้นน้ำในฤดูแล้ง ทำหน้าที่ต่อระบบนิเวศ เช่น เป็นที่อาศัยของสัตว์ ก็หายไป นกประจำถิ่นและนกอพยพที่เคยวางไข่บนเกาะกลางลำน้ำโขง นับล้านๆ ตัวตลอดสายน้ำโขง กลับถูกทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยและขยายพันธุ์ โดยน้ำที่ปล่อยมาจากเขื่อน 

พรรณพืชที่มีความสำคัญ เช่น ไก หรือสาหร่ายน้ำจืด เป็นอาหารของสัตว์น้ำ โดยเฉพาะปลาบึก เป็นอาหารของประชาชน รวมทั้งเป็นพืชเศรษฐกิจท้องถิ่นที่สำคัญ ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของระดับน้ำ ที่ขึ้นลงผิดฤดูกาล ถูกทำลาย ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ตลอดสายน้ำโขง 

น้ำที่ท่วมในฤดูแล้ง ส่งผลเสียหายต่อวิถีชีวิตเกษตรกรรมริมฝั่ง วิถีประเพณีวัฒนธรรม แหล่งรายได้ และการพักผ่อนหย่อนใจของคนท้ายน้ำ 

ข้อมูลที่ระบุถึงประมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นตามคำแถลงของสถานฑูตจีนนั้นสามารถเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดี

กรณีการเดินเรือโดยสารของท้องถิ่น สามารถดำเนินการได้ตลอดปี เป็นปกติ ไม่ใช่เป็นครั้งแรก เนื่องจากสำหรับประชาชนลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ใช้เรือที่มีขนาดเหมาะสมกับแม่น้ำและร่องน้ำ แต่ที่อ้างนั้น เป็นเรือจีนที่มีขนาดใหญ่ ไม่เหมาะสมกับลักษณะของแม่น้ำโขงบริเวณนี้ 

การระบายน้ำที่อ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง หากแม่น้ำโขงไหลตามธรรมชาติ ปริมาณแม่น้ำโขงไม่ได้มาจากน้ำฝนเพียงอย่างเดียว แต่มาจากการละลายของหิมะทางต้นน้ำด้วย ปริมาณแม่น้ำโขงตอนบน ส่วนใหญ่เป้นน้ำจากจีน 

ในคำแถลงที่ระบุว่าช่วงพ.ศ. 2556 และ พ.ศ.2559 แม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงประสบภัยแล้งอย่างร้ายแรงในทั่วลุ่มแม่น้ำ จีนได้อดทนดำเนินการเพิ่มน้ำฉุกเฉินต่อแม่น้ำโขงตอนล่าง …ในขณะที่เกิดความแห้งแล้งภายใต้เงื่อนไขภูมิอากาศแปรปรวนรุนแรงสุดขั้ว” 

ขอชี้แจงว่า ในปีเดียวกันนั้น ที่แม่น้ำสาละวิน ซึ่งมีต้นกำเนิดเดียวกันกับแม่น้ำโขง พบว่าไม่มีปัญหาภัยแล้งแต่อย่างใด เนื่องจากไม่มีเขื่อนกั้น ไม่มีผลกระทบจากการกักเก็บน้ำของเขื่อน


 4. เกี่ยวกับการแจ้งข้อมูลอุทกวิทยา (Hydrological information) 

ตอบ  การแจ้งข้อมูลที่ผ่านมาซึ่งผ่านหน่วยงานรัฐ พบว่ามีการรับรู้น้อย ไม่สามารถแก้ไขบรรเทาปัญหาผลกระทบข้ามพรมแดน

ปัญหาที่สำคัญคือ แม้ว่าจะมีการแจ้งปริาณน้ำที่กักเก็บและระบายจากเขื่อน แต่การดำเนินการของเขื่อนก็ไม่เป็นไปตามฤดูกาล และวงจรของน้ำแม่น้ำโขงตามธรรมชาติ 

การแจ้ง จึงไม่ได้สามารถแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อระบบนิเวศและชุมชนท้ายน้ำไ้ด้

ตามคำแถลงที่ว่า “ปริมาณน้ำแม่น้ำล้านช้างที่ไหลออกนอกประเทศจีน เป็นเพียง 13.5% ของปริมาณน้ำแม่น้ำโขงตอนปากน้ำออกทะเล” เป็นความจริงเพียงส่วนหนึ่ง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง ที่พรมแดนไทย ณ สามเหลี่ยมทองคำ เป็นน้ำที่มาจากจีนเกือบ 100% โดยเฉพาะในฤดูแล้ง การใช้งานเขื่อนที่จีน (เขื่อนจิงหง) ย่อมส่งผลกระทบต่อแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทยลาว อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

“การดื่มน้ำแม่น้ำสายเดียวกัน” ไม่ได้เป็นการเชื่อมร้อยกันระหว่างรัฐต่อรัฐเท่านั้น การที่จะสร้างการมีส่วนร่วมในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของคนลุ่มน้ำโขง ต้องให้เกียรติ รับฟัง และมีความร่วมมือทั้งรัฐบาลและประชาชนทั้งลุ่มน้ำอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ข้อมูล หลักฐาน เกี่ยวกับความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้น เครือข่ายฯ จะมอบให้แก่ท่าน เมื่อมีการนัดหมายเพื่อหารือ และแลกเปลี่ยนหาแนวทางการแก้ไขปัญหาแม่น้ำโขง การจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกัน เพื่อให้เกิดความชัดเจน ก่อนที่ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำโขงจะรุนแรงมากไปกว่านี้  

More to explorer

จดหมายขอให้ระงับการก่อสร้างเขื่อนปากแบง และขอให้ดำเนินการประเมินผลกระทบต่อชุมชน เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม และจัดทำแผนเยียวยาผลกระทบในพื้นที่ อ.เวียงแก่น อ.เชียงของ จ.เชียงราย

นักวิชาการ-ภาคประชาชนฝากประเด็นถึงนายกฯก่อนนั่งหัวโต๊ะ กก.แก้ปัญหาน้ำท่วมให้คิดใหม่ทำใหม่-อย่าแค่ขุดลอกสร้างฝาย เสนอชะลอสร้างเขื่อนปากแบงกั้นโขง ชี้ซ้ำเติมภัยพิบัติในอนาคต เผยระบบข้อมูลน้ำภาครัฐไร้บูรณาการ