กลุ่มรักษ์แม่น้ำโขง (Save the Mekong) เรียกร้องให้ทำการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนใหม่ และให้ชะลอโครงการเขื่อนปากลายไว้ก่อน

(แปลจากภาษาอังกฤษ)

ในโอกาสที่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) จัดประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภูมิภาค กรณีโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากลาย กลุ่มรักษ์แม่น้ำโขงซึ่งเป็นพันธมิตรองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรชุมชน และพลเมืองผู้ใส่ใจในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เรียกร้องให้จัดทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมข้ามพรมแดน (Transboundary Environmental and Social Impact Assessment  – TBESIA) และการประเมินผลกระทบเชิงสะสม (Cumulative Impact Assessment  – CIA) สำหรับโครงการเขื่อนปากลายใหม่ เนื่องจากการประเมินที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พบว่าด้อยคุณภาพ เขื่อนปากลาย เป็นโครงการเขื่อนที่สี่ที่จะก่อสร้างในตอนล่างของแม่น้ำโขงสายประธานในสปป.ลาว และได้เริ่มกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแล้ว

จุดประสงค์ที่ระบุไว้ของการประเมินผล TBESIA/CIA ของเขื่อนปากลาย ได้แก่ “การช่วยให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจ ได้รับข้อมูลในเวลาอันเหมาะสม เกี่ยวกับผลลัพธ์ข้ามพรมแดนที่อาจเกิดขึ้น และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เชิงสะสม”[1] อย่างไรก็ดี เนื่องจากข้อบกพร่องร้ายแรงที่เป็นอยู่ การประเมินผลโครงการเขื่อนปากลาย จึงไม่ได้ให้ข้อมูลพื้นฐานที่พึ่งพาได้ และเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนและการตัดสินใจ โดยคำนึงถึงผลกระทบข้ามพรมแดนและผลกระทบเชิงสะสมที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการนี้ จึงควรยุติกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า PNPCA จนกว่าจะมีการประเมินผลครั้งใหม่ตามมาตรฐานที่เหมาะสม เพื่อประกันการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของโครงการนี้อย่างจริงจังและอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่สมบูรณ์พร้อม

หลายหัวข้อในรายงานการประเมินผล TBESIA/CIA ของเขื่อนปากลาย เป็นการคัดลอกข้อมูลมาจากรายงานการประเมินผล TBESIA/CIA ของเขื่อนปากแบงตั้งแต่ปี 2558 ส่งผลให้รายงานการประเมินผลเขื่อนปากลายมีข้อบกพร่องและมีข้อมูลที่ไม่ทันสมัย โดยข้อมูลและแหล่งอ้างอิงส่วนใหญ่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนปี 2554 การประเมินผล TBESIA/CIA ของเขื่อนปากแบงได้ถูกวิจารณ์ว่า มีความบกพร่องด้านข้อมูลและการวิเคราะห์[2] ส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามต่อความสมบูรณ์ของข้อมูล ที่จะใช้เป็นพื้นฐานของกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า

การประเมินผลโครงการเขื่อนปากลายไม่ได้อ้างอิงจากผลการศึกษาที่มีอยู่ รวมทั้งการศึกษาของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเอง ทั้งยังอ้างอย่างผิด ๆ ว่าไม่เคยมีการประเมินผลด้านสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment – SEA) ในแม่น้ำโขงสายประธานของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเมื่อปี 2553[3] ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม[4] ก็มีข้อบกพร่องและไม่ทันสมัย[5] รายงานการประเมินผลเขื่อนปากลาย ไม่ได้อ้างอิงผลการศึกษาของคณะมนตรีภายใต้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งได้ศึกษาเป็นเวลากว่าหกปี และใช้งบประมาณ 4.7 ล้านเหรียญ เพื่อรวบรวมหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ โดยอาศัยข้อมูลจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจเนื่องจากการพัฒนาในแม่น้ำโขง ผลการศึกษาดังกล่าวมีจุดมุ่งหมาย เพื่อสนับสนุนการวางแผนของประเทศสมาชิก และเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำมาตรการเพื่อป้องกัน บรรเทาผลกระทบหรือชดเชยเยียวยา สำหรับโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำ 

อย่างน้อย 90% ของข้อมูลในหัวข้อ ข้อมูลพื้นฐานเชิงสังคม (Social Baseline Conditions) ในรายงาน TBSEIA/CIA ของเขื่อนปากลาย[6] เป็นการคัดลอกมาจากรายงานการประเมินผลเขื่อนปากแบง[7] รวมทั้งการคัดลอกภาพถ่าย ตารางและเนื้อหา ควรสังเกตด้วยว่า รายงานทบทวนเชิงเทคนิคของเขื่อนปากแบงของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง “เสนอแนะอย่างจริงจังให้มีการปรับปรุงข้อมูลด้านสังคม-เศรษฐกิจให้เป็นปัจจุบัน”[8] เมื่อคำนึงถึงข้อบกพร่องร้ายแรงในแง่ข้อมูลและการประเมินผลเชิงสังคม-เศรษฐกิจของรายงาน TBESIA ของเขื่อนปากแบง ย่อมไม่อาจถือได้ว่ารายงานTBSEIA/CIA ­ของเขื่อนปากลาย มีความน่าเชื่อถือในแง่ข้อมูลพื้นฐานเชิงสังคมในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง

ในหัวข้อ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการบรรเทาผลกระทบ มีข้อสังเกตว่าหลังมีการใช้มาตรการบรรเทาผลกระทบ บรรดาผลกระทบต่าง ๆ จากเขื่อนปากลาย จะกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีนัยสำคัญ หรือส่งผลในเชิงบวก[9] แต่ในหัวข้อนี้กลับไม่มีหลักฐานมาสนับสนุน แต่เป็นการคัดลอกมาจากรายงานประเมินผลเขื่อนปากแบงเท่านั้น รายงานทบทวนเชิงเทคนิคเขื่อนปากแบงของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงได้ระบุว่า การขาดหลักฐานสนับสนุนเป็นข้อกังวลหลัก และเสนอแนะให้ผู้จัดทำโครงการ “จัดหาหลักฐานที่หนักแน่นมากกว่านี้ เพื่อพิสูจน์ความมีประสิทธิภาพของมาตรการบรรเทาผลกระทบที่เสนอ หรือให้ยอมรับว่าอาจมีความเสี่ยง และให้ปรับข้อมูลเกี่ยวกับผลลัพธ์ของการประเมิน”[10]

เป็นที่ชัดเจนว่าที่ผ่านมายังไม่มีการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังของประชาชน ในช่วงเตรียมพร้อมเพื่อทำการประเมินผลเขื่อนปากลาย ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลในหัวข้อ การมีส่วนร่วมของประชาชน (Public Involvement) เป็นการคัดลอกข้อมูลเกือบทั้งหมดมาจากรายงานของเขื่อนปากแบง โดยมีการแก้ไขข้อมูลเฉพาะชื่อของเขื่อนเท่านั้น อย่างไรก็ดี ผู้จัดทำรายงานกลับลืมเปลี่ยนชื่อของบริษัท เป็นเหตุให้ในรายงานของเขื่อนปากลายได้ระบุชื่อบริษัทต้าถัง ทั้ง ๆ ที่บริษัทดังกล่าวเป็นผู้จัดทำโครงการเขื่อนปากแบง[11]

ในเวทีเศรษฐกิจโลกของอาเซียน (ASEAN World Economic Forum) ที่เวียดนามเมื่อเร็ว ๆ นี้ นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีของประเทศลาว กล่าวว่า “จากนี้ไปจะกำหนดให้การก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในลาว ต้องผ่านการศึกษาที่เหมาะสม” และ “สอดคล้องกับเงื่อนไขของการศึกษาและการวิจัยที่มีคุณภาพดีสุด การออกแบบโครงการก็จะต้องสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ และมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนอย่างหนักแน่น”[12]

เป็นที่ชัดเจนว่า การประเมินผล TBESIA/CIA ของเขื่อนปากลายไม่อาจถือว่ามีคุณภาพดีสุด ไม่ได้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน ทั้งไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการจัดทำการประเมินผล TBESIA/CIA ของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากลายใหม่ โดยการประเมินผล TBESIA ใหม่นี้จะต้องอยู่บนพื้นฐานการศึกษาล่าสุด ต้องเกิดจากการปรึกษาหารืออย่างจริงจังกับชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบ รวมทั้งชุมชนในประเทศเพื่อนบ้าน และต้องดำเนินการอย่างสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือและพึ่งพาได้ จึงควรมีการชะลอโครงการเขื่อนปากลายไว้ก่อน จนกว่าการประเมินผล TBESIA/CIA ครั้งใหม่จะแล้วเสร็จ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงยังควรยุติกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของโครงการเขื่อนปากลายเอาไว้ และกำหนดให้มีการประเมินผลเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพอย่างเพียงพอ อันจะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการปรึกษาหารือที่อยู่บนพื้นฐานข้อมูลและมีความหมายอย่างแท้จริง

พันธมิตรกลุ่มรักษ์แม่น้ำโขง  

20 กันยายน 2561


[1] รายงานการประเมินผล TBESIA/CIA ของเขื่อนปากลาย www.mrcmekong.org/topics/pnpca-prior-consultation/pak-lay-hydropower-project/  

[2]  www.internationalrivers.org/resources/independent-expert-review-of-the-pak-beng-dam-eia-16488

[3] น. 38

[4] หัวข้อ 1.7.1 (น.27-28) และหัวข้อ 1.7.3, น.31-35

[5] มีการกล่าวถึงตัวอย่างของกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติน้ำและทรัพยากรน้ำ (2560) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (2555) นโยบายว่าด้วยการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำที่ยั่งยืน (PSHD) (2558) และแนวปฏิบัติตามนโยบาย PSHD (2559)  

[6] หัวข้อ 3.8

[7] www.mrcmekong.org/assets/Consultations/PakBengBengHydropowerProject/19.Transboundary+Environmental+and+Social+Impact+AssessmentCummulative+Impact+Assessement.pdf  

[8] สำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) (2560, น.78) Technical Review Report: Prior Consultation for the Proposed Pak Beng Hydropower Project (รายงานทบทวนเชิงเทคนิค: การปรึกษาหารือล่วงหน้าโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง) www.mrcmekong.org/topics/pnpca-prior-consultation/pak-beng-hydropower-project/    

[9] ภาคผนวก B, น.293-297

[10] สำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) (2560, น.78) รายงานทบทวนเชิงเทคนิค: การปรึกษาหารือล่วงหน้าโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง

[11] โปรดดู น. 270 และ น.274

[12] www.vientianetimes.org.la/FreeContent/FreeConten_Development_of_215.php     

More to explorer