อ้อมอกแม่อิง สายน้ำ ..ตำนาน ความรัก

ปลายฤดูหนาว..ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ผมออกเดินทางทำความรู้จักแม่น้ำอิงตั้งแต่ท้ายกว๊านพะเยา ด้วยความตั้งใจอยากเห็นแม่น้ำตลอดทั้งสายในความยาว ๒๖๐ กิโลเมตร  อยากเห็นชีวิตของคนกับการพึ่งพาสายน้ำ อยากเห็นธรรมชาติของป่าสองฟากฝั่งลำน้ำ อยากเห็นปลาหลากชนิดในแม่น้ำ ผมและเพื่อนบ้านคนหาปลาออกเดินทางโดยใช้เรือหาปลาออกแรงจับไม้พายด้วยมือ เดินทางเหมือนวิถีของคนหาปลาในอดีต ท่ามกลางอารมณ์อบอุ่น-ชีวิตกับสายน้ำ กับการบันทึกเรื่องราวสายน้ำที่ไหลผ่านแผ่นดินถิ่นเกิดก่อนไหลลงสู่..แม่น้ำโขง

วันเวลาผ่านมาสู่ปีที่ ๒๔ ปลายฤดูหนาวปีนี้..ปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ปีที่ฤดูหนาวกลับมาเยือกเย็นเป็นธรรมชาติอีกครั้ง แต่ผมยังคงเฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงของสายน้ำพร้อมกับย้อนหาอดีต สายน้ำถูกใช้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้นตลอดทั้งสาย ถูกเปลี่ยนแปลงกายภาพจากการจากการขุดลอก ตลิ่งเรียงหิน-ฝายคอนกรีตแบบประตูปิด-เปิด เป็นระยะๆ สิ่งก่อสร้างเพิ่มมากขึ้น แต่ปริมาณน้ำไหลตลอดทั้งสายกลับไหลน้อยลง แห้งขอดยามร้อนแล้ง พืชน้ำริมฝั่งถูกทำลาย ปริมาณและชนิดพันธุ์ปลาเหลือน้อยลง ป่าริมน้ำกลายเป็นพื้นที่โล่ง ป่าริมแม่น้ำหายไปกลายเป็นผืนดินมีเจ้าของ

พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำอิงตอนล่างผ่าน อำเภอเทิง พญาเม็งราย ขุนตาล เชียงของ ในความยาว ๑๓๐ กิโลเมตร รัศมี ๑๐ กิโลเมตร สองฝากฝั่งมีพื้นที่อยู่ราว ๓ แสนไร่ เป็นพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง ที่ราบลุ่มยังพบเห็นความอุดมสมบรูณ์หลงเหลืออยู่ทั้งป่าริมแม่น้ำ หนอง หลง บวก-จำ  แต่ก็ยังมีความเสี่ยงต่อแผนการจัดการน้ำอนาคตที่มองเห็นน้ำเพียงแค่น้ำตามความต้องการเพิ่มมากขึ้น พวกเขามองไม่เห็นสิ่งมีชีวิตในน้ำและสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากธรรมชาติ พื้นที่ที่มีความพิเศษของผืนดินในบริเวณที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงจากอิทธิพลของแม่น้ำโขง สมทบกับน้ำจากป่าต้นน้ำ-ลำน้ำสาขา ท่ามกลางฤดูฝน

ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปในวันข้างหน้า บันทึกเรื่องราวในอ้อมอก-แม่อิง สายน้ำ ตำนาน ความรัก เกื้อกูลชีวิตบรรพบุรุษมาหลายชั่วอายุคน ได้สร้างบ้าน-สร้างเมือง ความทรงจำจะยังคงอยู่ตลอดไปกับวันเวลา และห้วงเวลาของการใช้ชีวิตแต่เพียงลำพัง

อ้อมอกของแม่อบอุ่นเสมอในห้วงความรู้สึกของลูก
นับแต่ในครรภ์กระทั่งลืมตามองเห็นแสงสว่างโอบคลุมผิวโลก
อบอุ่นในยามความเหงาความเศร้ามาเยี่ยมเยือน
ท่ามกลางฤดูกาลผันผ่านให้เรียนรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ
ความเปลี่ยนแปลงของชีวิต ความเปลี่ยนแปลงของภาวะจิตใจเมื่อเริ่มเติบโต
แม่ผู้เอื้ออาทรหวังเพียงให้ลูกพึงสำนึกอยู่เสมอว่า
โลกอันงดงามเบื้องหน้าย่อมขึ้นอยู่กับสายตากับการกระทำเรา

ขุนภู…ก่อกำเนิดในซอกหลืบของดอยหลวงเทือกเขาผีปันน้ำ หลายหยาดหยดหลั่งใหลเป็นลำห้วยสิบสองสายลงสู่พื้นที่ราบลุ่มน้ำหนองเล็งทราย กว๊านพะเยา ก่อนจะรวมตัวเป็นแม่น้ำสีขุ่นไหลย้อนขึ้นทางทิศเหนือลงสู่แม่น้ำโขง ชื่อของแม่น้ำเปลี่ยนแปลงไปตามร่องรอยประวัติศาสตร์บันทึกไว้ในพงศาวดารโยนก และตำนานเมืองพะเยา สามกษัตริย์ซึ่งมีความผูกพันกันในฐานะเพื่อน  พระร่วงแห่งอาณาจักรสุโขทัย พญางำเมืองแห่งเมืองพะเยา และพญามังรายแห่งเมืองเชียงราย มีเรื่องราวทำให้เกิดความบาดหมางในใจจนนำไปสู่ความขัดแย้งถึงขั้นแตกหัก ระหว่างพระร่วง กับพญางำเมือง  ข่าวแพร่สะพัดไปถึงเมืองเชียงราย พระยามังรายจึงต้องทำหน้าที่สร้างความปรองดอง ในที่สุดทั้งสามกษัตริย์ ตกลงกันว่าจะกล่าวปฏิญานยุติความขัดแย้ง ณ.ริมฝั่งแม่น้ำขุนภูโดยนั่งหันหลังพิงกัน แม่น้ำขุนภูจึงได้รับการกล่าวขานในเวลาต่อมาว่าแม่น้ำอิง

ฤดูฝน–เมื่อเริ่มโปรยปรายจนล่วงเข้าสู่ฤดูกาล น้ำใหม่ก็พัดพามดแมลง ตัวหนอนหลากชนิด  และพัดพาผิวดินกลิ่นดินลงสู่แม่อิง ส่งสัญญาณให้ฝูงปลาเริ่มเดินทางสู่เหนือน้ำ น้ำค่อยๆสูงขึ้นจนถึงกลางพรรษาฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ข้าวชูใบเขียวเข้ม ต้นไม้เริงรื่น ผืนดินเริ่มอิ่มน้ำ น้ำแม่อิงเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็ว ถือเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างสายน้ำกับผู้คนมาอย่างยาวนาน ยามเมื่อน้ำหลากปลาในแม่น้ำแหวกว่ายไปอยู่ตามหลง หนอง ป่าริมน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งอาศัย หลบภัยผสมพันธุ์วางไข่ตามฤดูกาล เรามักได้ยินคำบอกเล่าของชาวบ้านลูกหลานแม่อิงว่า ปีไหนน้ำล้นปริ่มออกมาจากฝั่งไหลเข้าพงหญ้าป่าไผ่ปีนั้นปลาจะมีให้จับไม่หวาดไม่ไหว 

 เพียงบางครั้งบางคราวในหลายรอบปี แม่อิงอาจเกรี้ยวกราดไหลบ่าท่วมที่ไร่ที่นาได้รับความเสียหายอย่างหนักหน่วงเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาตินานๆจะเกิดขึ้นซักครั้ง หรือบางทีมักเกิดจากการลุกล้ำทำลายทำให้ ป่าเขา ผืนดิน แม่อิงแปรเปลี่ยน แต่ไม่ว่าจะเกิดปรากฏการณ์เช่นใดก็ตาม ฤดูฝนถือเป็นฤดูกาลชุบชีวิตสรรพสิ่งและการสั่งสมความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ไร่นาเสียหายก็ได้ปลามาทดแทนเป็นรายได้นำไปแลกเปลี่ยนกับของกินของใช้ซึ่งไม่สามารถหาได้ตามความจำเป็นของคนหาปลาในเวลาต่อมา 

ราวกับว่าเมื่อลูกดื้อรั้นคราใดแม่ก็ว่ากล่าวตักเตือนแต่หากขัดขืนดื้อรั้นต่อไปแม่อาจต้องเฆี่ยนตี แต่ในที่สุดไม่ว่าลูกจะเป็นเช่นใดแม่ก็ยังดูแลลูกต่อไป

ฤดูหนาว–ปลายฝนต้นหนาวแม่น้ำเริ่มไหลล่องปลาหลายชนิดเริ่มเคลื่อนตัวตามสายน้ำ บางชนิดวนเวียนอยู่ตามหลง หนอง เป็นฤดูกาลที่คนหาปลาจับปลาได้มากต่อเนื่องจากฤดูฝน เก็บเอาไว้แปรรูปเป็นปลาแห้ง ปลาร้า ปลาส้ม ว่ากันว่าปลาร้าปลาส้มน้ำอิงเป็นส่วนผสมความรู้ของคนเหนือค่อนไปทางอีสาน คนเหนือมักถนัดกับการทำปลาจ่อมตัวเล็กกับไข่ปลาเพี้ยดอง ปลาแห้ง คนอีสานมักถนัดทำปลาร้า ปลาส้ม   ความรู้เรื่องแปรรูปเพื่อบริโภคในชีวิตประจำวันกลายเป็นผลผลิตจากแม่น้ำอิงกระจายไปตามพื้นที่ภาคเหนือหลายแห่งนับตั้งแต่เชียงราย พะเยา ไกลไปถึงเชียงใหม่ 

เมื่อเดินย่ำออกไปริมตลิ่ง บนฝั่ง แอ่งน้ำใน หลง หนอง มักมองเห็นฝูงนกเป็ดน้ำ นกกระยางสีขาว บินว่อนเหนือท้องฟ้า บางตัวบางคู่เหยียบย่ำบนโคลนดิน ผืนน้ำ เพื่อหาอาหารแสดงให้เห็นการพึ่งพาอาศัย เหมือนกับแม่กำลังแบ่งปันอาหารให้กับลูกอย่างเท่าเทียมกัน

เมื่อฤดูหนาวเริ่มผ่านไป ท้องทุ่งก็เหลืองอร่ามรอการเก็บเกี่ยว ชาวนา คนหาปลา จึงคุ้นเคยกับคำว่าข้าวใหม่ปลามัน อันมีความหมายมากกว่าการเริ่มต้นชีวิตคู่

ฤดูร้อน–ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ชาวนาส่วนใหญ่ว่างเว้นจากการทำงานในไร่นาทำให้มีเวลาอยู่กับแม่น้ำอิงอย่างต่อเนื่อง เครื่องมือหาปลาเกือบทุกชนิดถูกหยิบขึ้นมาใช้งานการหาปลาอาจมีการนัดหมายกันทั้งหมู่บ้านเรียกว่าตกปลา ไปเฉพาะแหเรือเรียกว่าฮุมแหคือมีเรือสองลำขึ้นไปหรือในกลุ่มคนใกล้ชิดไปเป็นครอบครัว ฤดูร้อนในอดีตแม่น้ำอิงกลายเป็นจุดนัดหมาย เรามักพบเจอผู้คนในแม่น้ำมากกว่าในหมู่บ้าน

แดดร้อนอาบร่างกายให้เร่าร้อน แม่อิงได้ช่วยคลายความเร่าร้อน ไม่เพียงแต่ร่างกายแม่อิงยังได้ช่วยผ่อนคลายความรุ่มร้อนในใจยามอยู่ใกล้ เมื่อเหม่อมองแม่อิงเอ่ยไหลจิตใจภายในพลันสงบนิ่ง สีสรรของดวงตะวันยามเย็นกลายเป็นฉากสะท้อนแสงงาม

แม่อิงดูเหมือนแปลกแยกไปจากแม่น้ำสายอื่นๆในความรู้สึก เพราะไหลย้อนขึ้นไปทางทิศเหนือสู่แม่น้ำโขง ในขณะแม่น้ำโดยทั่วไปไหลลงทางทิศใต้ เช่น ปิง วัง ยม น่าน ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาก่อนไหลลงสู่ท้องทะเลกว้าง

แม่น้ำอิงเกือบตลอดความยาวไหลผ่านที่ราบลุ่มซึ้งเป็นท้องทุ่งนาอันกว้างใหญ่ เป็นทุ่งนาเกี่ยวข้องกับการสร้างบ้านแปงเมือง ดังทุ่งลอกับเมืองลอ ทุ่งต๋าไห ทุ่งลอย ทุ่งหลวงกับเมืองเทิง ทุ่งสามหมอนกับเมืองเชียงของ  สลับกับระบบนิเวศน์พื้นที่ชุ่มน้ำ หรือตามคำเรียกขานของคนในท้องถิ่นว่า หลง หนอง ป่าข่อย ป่าชมแสง ซึ่งเป็นลักษณะดั้งเดิมหลงเหลือให้เห็นอยู่ไม่กี่แห่งในปัจจุบัน 

แม่น้ำอิงไม่ทรงเสน่ห์เป็นที่รู้จักของคนโดยทั่วไป  หากมีโอกาสได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด หรือค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจากคำเล่าขาน อาจทำให้มองเห็นความอุดมสมบูรณ์กับความเปลี่ยนแปลงจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งพันธุ์ปลา พรรณพืช นกน้ำ โดยเฉพาะความหลากหลายของพันธุ์ปลาซึ่งเดินทางมาจากแม่น้ำโขงเกือบทุกชนิด แม้กระทั่งการอพยพโยกย้ายของผู้คนจากภาคอีสานกับการดำรงวิถีในพื้นดินอนาคตแห่งใหม่กับสายน้ำอิง 

แม่…ไม่มีเวลาแต่งตัวให้สวยงามเหมือนคนอื่นหากปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติเพียงพอกับสิ่งเดิมๆ ไม่ทอดเจตนาปรากฏกายให้เห็นเรือนร่างภายในได้ง่ายนัก นอกเสียจากเดินเข้ามาโอบกอดอย่างแผ่วเบา

วิถีของคนสองฟากฝั่งลำน้ำมักบ่งบอกถึงการพึ่งพาธรรมชาติ ได้อย่างชัดเจน บ่งบอกถึงวิธีการอยู่ร่วมกันได้อย่างสอดคล้อง เนินเขาที่ดอนคือที่สำหรับการสร้างบ้านพ้นจากการถูกน้ำท่วมและตัวบ้านก็ยกพื้นสูงเตรียมพร้อมความแปรปรวนอยู่เสมอ พื้นที่ราบน้ำท่วมถึงถูกปรับเป็นนาปลูกข้าวพันธุ์ข้าวพื้นเมืองซึ่งสามารถปรับตัวให้สูงขึ้นยามฤดูน้ำหลากต่างจากเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ถูกเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ในปัจจุบัน การทำนากับการหาปลาเป็นวิถีการดำรงชีวิตที่ควบคู่กันไปเพียงแต่ช่วงเวลาไหน ฤดูกาลไหนเหมาะกับการทำอะไร กล่าวได้ว่าใช้ธรรมชาติเป็นศูนย์กลางการดำรงชีวิต บริเวณปากแม่น้ำสาขาเหมาะสำหรับการสร้างเมืองศูนย์กลางทางวัฒนธรรมกับการแลกเปลี่ยนสินค้า  ปัจจุบันอาจเห็นหลายหมู่บ้านตั้งอยู่ใกล้ชิดกับแม่น้ำ หรือในบริเวณน้ำท่วมขัง อาจเป็นเพราะการเพิ่มจำนวนของผู้คนจนไม่สามารถเลือกชัยภูมิที่ดีที่สุดอย่างคนโบราณได้ 

เมื่อวันเวลาผ่านเลยไปแม่อิงเกิดการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ จากเคยไหลคดโค้งอาจลัดเลาะเป็นเส้นตรงหลงเหลือส่วนโค้งของลำน้ำให้เห็นเป็นช่วงๆ มีชื่อเรียกว่า “หลง” มีความหมายดังว่าพลัดหลงเข้าไปมีน้ำขังตลอดทั้งปีเพียงแต่ช่วงฤดูแล้งถูกตัดขาดเหมือนรูปจันทร์เสี้ยวข้างแม่น้ำ

และวันเวลาผ่านไปเราอาจเห็นพัฒนาการของการคิดค้นเครื่องมือหาปลารูปแบบเหมือนเครื่องมือท้องถิ่นแถบภาคอีสาน หรือในทะเลเช่นโพงพาง ความรู้เคลื่อนที่มาพร้อมกับการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานของผู้คน มากไปกว่านั้นคือเครื่องมืออันเกิดจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ระเบิด ไฟฟ้า สารเคมี ราวกับจะตักตวงเอาผลประโยชน์จากแม่น้ำให้ถึงที่สุด

แม่…ต้องทนรับสภาพอย่างเจ็บปวดจากการกระทำของลูก แต่แม่พยามจะเข้าใจว่าบางที่ลูกอาจไม่มีทางเลือก หรือบางทีลูกอาจถูกหลอกล่อจากสังคมภายนอกให้ลุ่มหลงกับชีวิตที่พึ่งพาปัจจัยภายนอก พึ่งพาวัตถุจนเกินความจำเป็นของชีวิต

 แต่แรงดลใจลึกๆอยากเห็นแม่น้ำตลอดทั้งสายทำให้ผมชักชวนเพื่อนชาวประมงพายเรือออกสำรวจแม่อิงจากตอนบนถึงปากแม่น้ำเป็นทั้งการสำรวจและการหาปลายังชีพ หลังจากที่ผมห่างเหินจากแม่อิงนานกว่าสิบปี และผมรับรู้ว่ารัฐบาลมีนโยบายจะผันแม่น้ำอิงไปเติมในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ซึ่งกำลังตกอยู่ในสภาพขาดแคลนน้ำ ผมนึกแปลกใจเมื่อรู้ข่าวครั้งแรก แปลกใจไฉนเขื่อนถึงไม่มีน้ำ แม่น้ำน่านเท่าที่เคยรู้จักก็ไม่น่าจะขาดแคลนน้ำ และยิ่งแปลกใจเมื่อถามเพื่อนชาวประมง ชาวบ้านคนอื่นๆ พวกเขากับบอกว่าไม่เคยรู้เรื่องทั้งๆที่พวกเขาไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเผชิญความเปลี่ยนแปลงโดยไม่มีโอกาสได้บอกเล่าเรื่องราววิถีที่เป็นอยู่นับตั้งแต่โครงการเริ่มต้นวางแผน

ปลายฤดูหนาว–ครั้งแรกพวกเราตั้งใจกันจะเริ่มออกเดินทางตั้งแต่ท้ายเขื่อนกั้นน้ำกว๊านพะเยา ซึ่งสร้างมาตั้งแต่ ปีพ.ศ2482 แต่เมื่อสอบถามเส้นทางเพิ่มเติมกลับพบว่าเรืออาจพบอุปสรรคล่าช้าเพราะมีฝายดั้งเดิม ๒๗ ฝาย รวมฝายยางแห่งใหม่อีก ๑ ฝาย ผมจึงตัดสินใจแบ่งการสำรวจเป็นสามช่วง ช่วงแรกเขตต้นน้ำตั้งแต่กว๊านพะเยาขึ้นไปป่าต้นน้ำซึ่งต้องเดินทางด้วยรถยนต์และการเดินทางเท้า ช่วงที่สองท้ายฝายยางจากอำเภอดอกคำใต้ จุนถึงเทิง ช่วงที่สามจากเทิงผ่านขุนตาลถึงปากแม่น้ำอำเภอเชียงของ โดยใช้เรือ เราจะล่องตามน้ำก่อนแล้วค่อยกลับมาสำรวจต้นน้ำทีหลัง

รถปิกอัพบรรทุกเรือสองลำพร้อมพวกเราหกคนเดินทางไปยังท้ายฝายยางจนสุดถนน พวกเราแบกเรือลัดเลาะริมฝั่งหาจุดลาดเอียงเพื่อชักลากเรือลงสู่แม่น้ำ หน้าแล้งตลิ่งสูง กว่าเรือจะแตะพื้นผิวน้ำเหงื่อก็ท่วมตัว เมื่อสัมผัสน้ำความร้อนก็เริ่มคลี่คลาย 

เพราะความเปลี่ยนแปลงจากสิ่งก่อสร้าง แม่น้ำจึงถูกตัดตอนเป็นช่วงๆทำให้เราไม่สามารถเริ่มต้นเดินทางในบริเวณที่ใกล้พื้นที่ต้นน้ำ เดินทางตามเจตนาการไหลของแม่อิง

เรือหาปลาค่อยๆเคลื่อนตัวออกจากฝั่ง แม่น้ำดูเล็กไหลคดโค้ง บรรยากาศรอบตัวดูสงบเงียบสอดแทรกเสียงนกร้อง เสียงไม้พายจ้ำแหวกลงไปน้ำ บางครั้งเห็นปลาตัวเล็กอย่างปลาบอก(ปลาสร้อย) ปลามะแปบ กระโจนลอยไปในอากาศพุ่งทะยานโค้งไปข้างหน้าก่อนดำหายไปในแม่น้ำอย่างรวดเร็ว นั่นคือสัญชาตญาณหนีภัยของปลา

ระหว่างการเดินทาง เมื่อสังเกตเห็นว่าตรงไหนมีปลาชุกชุมแน่ง(ตาข่าย)ก็เริ่มถูกปล่อยออกจากเรือทำมุมโค้งออกจากฝั่งทวนน้ำขึ้นไปประมาณ ๓๐–๕๐ เมตร จรดริมฝั่งด้านบน หลังจากนั้นก็ใช้ไม้โซ่ทำจากไม้ไผ่ยาวประมาณ ๕ เมตร โคนต้นร้อยด้วยห่วงเหล็กฟาดลงตรงกลางระหว่างฝั่งกับแน่ง จุดปล่อยแน่งมักเลือกบริเวณที่มีกอหญ้า พุ่มไม้น้ำ หรือซากกอไผ่ทะลายมากับดินชายฝั่งจมอยู่ในน้ำซึ่งมักโผล่ตรงปลายให้เห็น ปลามักซ่อนตัวอยู่ข้างใน แรงฟาดไม้โซ่ทำให้น้ำกระเพื่อมแรง ห่วงเหล็กเมื่อกระทบกันใต้ผิวน้ำกระแทกเสียงบวกกับแรงฟาดทำให้ปลาพุ่งตัวออกจากพุ่มไม้และกอไผ่ ติดกับดักที่วางล้อมเอาไว้แต่มันไม่ได้จนมุมทุกตัว บางตัวพุ่งกระโจนลอยไปในอากาศข้ามกับดักรอดตัวไปอย่างหวุดหวิด การเลือกขนาดของตาแน่งคือการเลือกเบื้องต้นว่าจะจับปลาปลาสร้อย ปลาตะเพียน ปลากด ปลาช่อน ปลาค้าว แน่งมีขนาดของตาให้เลือกตั้งแต่ ๑–๑๒ เซนติเมตร 

เราดื่มน้ำโดยการขุดผืนทรายริมแม่น้ำให้กว้างประมาณครึ่งเมตร ลึกเพียงข้อศอก วิดน้ำขุ่นข้นออกให้หมด น้ำใสซึมผ่านผืนทรายเต็มบ่อในเวลาอันรวดเร็วเพียงพอสำหรับการเก็บสำรองใว้กินบนเรือ ยามหิวเหมือนเด็กได้ดื่มกินน้ำนมจากแม่ เราอาบน้ำในแม่น้ำเหมือนกับแม่ช่วยขัดถูคราบเหงื่อไค เราได้กินปลาจากแม่น้ำเหมือนกับแม่กำลังป้อนให้ด้วยรอยยิ้ม และระหว่างการเดินทางเรามักพบเจอผู้คนอย่างไม่ขาดสายแม้จะไม่มีเวลาได้พูดคุยกัน เราอาจใช้วิธีตะโกนทักทายก่อนตามประสาคนต่างถิ่น ทักทายด้วยสายตากับรอยยิ้ม บางทีมันมีความรู้สึกว่าเราต่างเป็นพี่น้องกัน เหมือนมีแม่คนเดียวกัน

ก่อนตะวันเลือนหายสองสามชั่วโมง พวกเราพยามมองหาหาดทรายสีน้ำตาลเพื่อสร้างเพิงพักชั่วคราวและตัดสินใจเลือกหาดใกล้กับหมู่บ้านปางมดแดง เพื่อนชาวประมงเล่าให้ฟังว่าชาวบ้านที่นี่เดิมทีเดียวไม่ใช่คนแถวนี้ พวกเขาอพยพมาจากจังหวัดกาฬสินธุ์ เพราะหมู่บ้านเดิม ที่ไร่ที่นาถูกน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อนลำปาว บริเวณที่ตั้งของหมู่บ้านแต่เดิมเป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ยามหน้าแล้ง เป็นป่าริมน้ำแม่อิง ไม่มีใครจับจองเป็นเจ้าของมาก่อน เพราะฤดูน้ำหลากน้ำจะท่วม

หาดแห่งนี้คงเป็นที่พักพิงของคนหาปลาไกลบ้าน บริเวณหาดยังปรากฏร่องรอยให้เห็นเศษใบไม้แห้ง เศษอาหาร กองไฟยังดับไม่สนิท พวกเขาคงมาแวะในค่ำคืนก่อนหน้านี้

พวกเราแบ่งหน้าที่กันเพื่อสร้างเพิงนอนกับการเตรียมอาหารสำหรับมื้อเย็น เพิงก่อตัวขึ้นอย่างเรียบง่ายใช้ไม้สองเล่มทำเสา หนึ่งเล่มทำคานกว้างประมาณสี่เมตร อีกสี่ห้าเล่มพาดบนคานทำมุมเฉียงกับผืนทราย ตัดกิ่งไม้ใบแขมคลุมเป็นหลังคาพอกันน้ำค้างกับปูนอน เป็นความสุขอันเรียบง่ายกับเพิงนอนดูอบอุ่น  

กองไฟรายล้อมด้วยไม้เสียบปลาย่างส่งกลิ่นหอม เตรียมพร้อมสำหรับอาหารมื้อเย็น หลังจากเดินทางเหน็ดเหนื่อยมาตลอดวัน เมื่อถึงเวลาอาหารเย็นไม่มีใครปริปากพูดคุยกันมากนักเพราะความหิวกับความเอร็ดอร่อยกับรสชาติปลาย่างกับข้าวอุ่นอย่างเมามัน กินอิ่มจนง่วง ก่อนจะทยอยเข้าเพิงพักทีละคนสองคน เกลือเพียงเพื่อนอีกคนเผลอหลับข้างกองไฟจนสว่างเขาถูกสะกดด้วยฤิทธิเหล้าต้ม

ริมหาดทรายที่พักพิงระหว่างการเดินทางในคืนเดือนมืด กองไฟเปล่งแสง ดาวระยิบระยับเต็มท้องฟ้า เป็นค่ำคืนแรกของการเดินทาง เรากำลังนอนใกล้ๆแม่ ฟังเสียงเพลงธรรมชาติขับกล่อมยามค่ำคืน ก่อนหลับตานอน

วันต่อมาพวกเราเริ่มออกเดินทางแต่เช้า โดยมีเป้าหมายขึ้นฝั่งที่เมืองเทิง แวะเอาปลาเหลือกินส่วนหนึ่งไปขายในตลาด กะว่าแยกย้ายกันกลับบ้านก่อนแล้วค่อยวางแผนเดินทางไปปากแม่น้ำอิง เรือหาปลาล่องผ่านหมู่บ้านร่องแช่ได้ไม่นาน พวกเราก็สะดุ้งกับเสียงดังข้างหน้า 

เสียงระเบิดดังเป็นระลอกๆ ราวกับเกิดสงครามขนาดย่อมในแม่น้ำก่อนถึงตัวอำเภอเทิง ห่างไกลจากสายตาผู้คน ดูเหมือนผู้รุกรานกำลังมีชัย หากมันเป็นสงครามระหว่างคนสองฝักสองฝ่าย ศพของผู้พ่ายแพ้คงเกลื่อนริมฝั่งซึ่งเป็นสมรภูมิรบ แต่เสียงระเบิดที่ได้ยินเป็นการบอมส์ลงกลางลำน้ำแม่อิง สงครามเพื่อปากท้องของคนหาปลา เป็นการกระทำอย่างรุนแรงโดยที่แม่อิงมิอาจตอบโต้ ฝูงปลาลอยเกลื่อนลำน้ำ เราล่องเรือผ่านโดยไม่ทักทาย และพวกเขาคงไม่ยินดีทักทายกับพวกเรา 

หากผ่านไปอีกซักวันสองวัน เศษซากปลาเน่าซึ่งเก็บเอาไปไม่หมดและตายในน้ำหลังพวกเขากลับบ้านคงลอยฟูฟ่องส่งกลิ่นเหม็นคลุ้งอย่างไร้ความหมาย อาจเป็นความโหดร้าย หรือความมักง่ายบวกกับความโลภ แต่หากมองลึกเข้าไปในหัวใจของคนหาปลาเหล่านั้นอย่างให้อภัย อาจมองเงื่อนไขบางอย่าง ตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมวัตถุนิยม

ภาพที่มองเห็นทำให้หลายคนรู้สึกหดหู่ โดยมิอาจร้องขอ ได้แต่หลบออกไปเสียให้ไกลจากบริเวณนั้น ไปให้ไกลจากเสียงอันสั่นสะเทือนใจ ไปให้ไกลจากภาพปลาลอยเกลื่อนลำน้ำ ไปให้ไกลจากเสียงเอะอะโวยวายของคนกอบโกยเอาผลประโยชน์อย่างเอาเปรียบ

อีกสองวันต่อมาพวกเรานัดหมายกันอีกครั้งเพื่อจะเดินทางไปให้ถึงปากแม่น้ำ ครั้งนี้อาจจะไม่ใช้เวลาสำหรับหาปลามากนัก แต่อยากเห็นสภาพโดยทั่วไปอย่างทั่วถึง พวกเราเปลี่ยนมาใช้เรือติดเครื่องยนต์ออกเดินทางจากแม่น้ำลาวลำน้ำสาขาสายใหญ่ของแม่น้ำอิงเลี้ยวขวาจากเมืองเทิงมุ่งหน้าสู่เชียงของ

เสียงเครื่องยนต์ ๑๒ แรงม้าทำให้ความเงียบหายไป ฝูงนกริมฝั่งแตกตื่น ต่างจากการเดินทางด้วยเรือพายอย่างลิบลับ ผมเริ่มสังเกตเปรียบเทียบระหว่างตอนบนกับตอนล่าง   แม่อิง คดโค้งน้อยลงแต่กว้างขึ้นเรื่อยๆ ริมฝั่งส่วนใหญ่เป็นไร่ข้าวโพด สลับป่าไผ่ ป่าริมน้ำ หมู่บ้านริมฝั่งมีไม่กี่หมู่บ้าน ส่วนใหญ่หมู่บ้านมักห่างจากแม่น้ำมากกว่าหนึ่งกิโลเมตร แต่ยังพบเห็นคนหาปลาไม่ขาดสาย คนหาปลาเล่าให้ฟังว่าช่วงหน้าฝนแม่น้ำโขงอาจไหลย้อนเข้ามาได้ไกลถึง ๕๐ กิโลเมตร ป่าริมน้ำ หนองน้ำ จะช่วยโอบอุ้มน้ำ พื้นที่ไหนไม่มีป่ามีหนองน้ำ น้ำมักเอ่อท่วมไปถึงที่ไร่ที่นา

การเดินทางจากเมืองเทิงถึงปากแม่น้ำอิงโดยเรือหาปลาติดเครื่องยนต์ใช้เวลาหนึ่งวันกับการเดินทางเพียงอย่างเดียว แต่พวกเราเลือกแวะพักอีกหนึ่งคืนก่อนจะใช้เวลาอีกครึ่งวันเดินทางต่อมาถึงหมู่บ้านปากอิงเป็นบริเวณที่แม่น้ำอิงไหลลงแม่น้ำโขง

เรือชลออยู่บริเวณปากแม่น้ำ เพื่อนชาวประมงเอ่ยปากไม่กล้าเอาเรือออกไปแม่น้ำโขง เขารู้สึกคุ้นเคยอย่างสนิทใจกับแม่อิงมากกว่า พอเจอแม่น้ำโขงกลับรู้สึกหวาดกลัวเพราะมันกว้างใหญ่ น่าเกรงขาม

อาจเป็นครั้งแรกของผมและเพื่อนชาวประมงโดยความตั้งใจออกเดินทางตามสายน้ำให้ได้ตลอดทั้งสาย ได้เห็นรูปร่างแม่อิงอย่างเต็มอิ่ม แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาขณะหนึ่ง มันก็ทำให้เรามองเห็นความเคลื่อนไหวของชีวิต ผู้คน ปลา ฝูงนก ต้นไม้ ใบหญ้า โอบอุ้มโดยแม่อิง การเดินทางทำให้ เก็บเกี่ยวความงามมาบอกเล่าให้คนอีกหลายๆคนซึ่งห่างเหินไปจากแม่อิงได้รับรู้ ลำพังผมกับเพื่อนชาวประมงพบเห็นคงมิอาจทำให้คนทุกคนมาสนใจช่วยกันดูแลแม่อิงแต่ผมคิดว่า แม่อิงมีลูกมากมายหลายคน เป็นทั้งคนหาปลา คนทำนา คนขายปลา คนกินปลา คนกินน้ำ เพียงแต่อยากจะบอกว่าช่วยกันดูแลแม่บ้าง และอย่าทำร้ายแม่

ก่อนแยกย้ายพวกเราสัญญากันว่าจะกลับไปคารวะผืนป่าต้นน้ำอีกครั้ง

More to explorer