ก่อนภาพในฝันในวันเก่าจะเลือนลาง ณ ริมฝั่งโขง เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูหนาวในปี พ.ศ.2563 อากาศไม่ได้หนาวเหมือนในอดีต..ฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะอากาศของโลกน้ำมือของมนุษย์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ผมมองข้ามไปยังฝั่งลาว มองเห็นความเปลี่ยนแปลงอันปรากฏตรงหน้า กับความเปลี่ยนแปลงลึกเข้าไปด้านในเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การปกครองโดยเจ้ามหาชีวิต ตกอยู่ในการปกครองของอาณานิคม เกิดการต่อสู้ภายในระหว่างความเชื่อต่างลัทธิ จนเกิดสงครามภายในสู่สงครามอินโดจีน เผชิญหน้ากับกองทัพอเมริกา
ในที่สุดกองทัพปลดปล่อยก็สามารถยึดอำนาจจากรัฐบาลกลางได้สำเร็จในปี พ.ศ.2518 อเมริกาถอนกำลัง กลายเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ปกครองในระบอบสังคมนิยม เพื่อนำพาประเทศหลุดพ้นจากความทุกข์จน
ปัจจุบันลาวกำลังพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดดโดยการสนับสนุนจากรัฐบาลเวียตนาม และรัฐบาลจีน มีการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษจนเกิดเมืองใหม่ตามแนวชาย ประกาศนโยบายแบตเตอรี่แห่งเอเชียทำให้เขื่อนผุดขึ้นในแม่น้ำทุกสายมากถึง 100 แห่ง สร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อประเทศจีน ลาวกำลังพัฒนาและลาวกำลังจะเปลี่ยนไปจนทำให้ผมต้องบันทึกเรื่องราวย้อนหลังเป็นความทรงจำที่คงจะไม่มีให้เห็นอีกต่อไป
เมื่อได้เดินทางไปพบเห็นแผ่นดินถิ่นอื่นยังคงรักษาร่องรอยของอดีต กับความทรงจำอันฝังลึกอยู่ในใจ ผมมีความรู้สึกราวกับว่าตกหลุมรักในทันทีทันใด และในห้วงเวลาของการชื่นชมขุนเขา สายน้ำ หมู่บ้านอันเงียบสงบ อาจเป็นห้วงเวลาเดียวกันกับการชื่นชมความมีน้ำจิตน้ำใจดีงามของใครบางคนอย่างไม่จางหาย ผมรู้สึกอบอุ่นในใจหลายครั้งเมื่อผ่านพบผู้คนอีกมากมายหลายคนยังมีความใฝ่ฝันคล้ายๆ กัน ความฝันของผมจึงเป็นเรื่องราวจับต้องได้
พี่สาวที่เคารพนับถือ ชักชวนร่วมเดินทางตามหาความฝันในผืนแผ่นดินลุ่มน้ำโขงแถบลาวเหนือหลังจากผมเคยร้องขอแกมาก่อนหน้านี้ เดินทางด้วยการล่องเรือลงตามลำน้ำโขงก่อนลัดเลาะย้อนขึ้นทางทิศเหนือสู่เส้นทางประวัติศาสตร์ของนักปฏิวัติจากเมืองไทย
ครั้งนี้หาใช่ครั้งแรกของการเดินทางล่องตามลำน้ำโขง แต่จะเป็นการเดินทางด้วยเรือเร็วครั้งแรกจากเชียงของถึงปากแบง เรือที่ไม่เคยคิดจะนั่งมีเป้าหมายของวันไปให้ถึงแขวงอุดมไซย จุดนัดหมายกับอดีตสหายกับลูกหลานนักปฏิวัติ และพี่สาวจากเมืองไทย เป็นครั้งแรกของการเดินทางไกลทั้งทางน้ำและทางบกถึงพื้นที่ลาวเหนือติดชายแดนจีนกับเวียดนาม
ดินแดนที่พี่สาวพูดถึงความงามอย่างไม่มีวันลืม มีคนคร่ำครวญให้ฟังบางเวลาว่าอยากกลับไปเก็บดวงดาวบนยอดดอยลาวเหนือ…เมื่อลมหนาวมาเยือน
1
ตะวันตั้งตรงเหนือหัวเวลาของการเดินทางเริ่มต้น คลาดเคลื่อนจากการวางแผนอย่างไม่ตั้งใจ ผมกับเพื่อนร่วมทางชื่อ สหายแจ้ง คนอกหัก นามสกุลใหม่มีคนมอบให้กว่าสามสิบปี และเราสองคนต้องอกหักร่วมกันเมื่อรู้ว่าเรือเร็วโดยสารหมดเวลาเดินทางแล้ว หากจะเดินทางต้องรอให้มีคนครบถึงเจ็ดคนหรือต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายคนละสามเท่าสำหรับคนสองคน เงินที่มีอยู่จะหายไปเกือบครึ่ง ผมรู้ว่าหมดช่องทางเจรจาหรือขอความเห็นใจ มิอาจต่อรองเพราะเวลาไม่มีเหลือแล้ว ผมตัดสินใจจ่ายค่าเดินทางอย่างนึกเสียดายมิอาจหาความหมายอะไรได้มากมายกว่านี้
เรือเร็วทะยานออกจากฝั่งกระแทกระลอกคลื่นจนหัวใจหวั่นไหว ราวกับการเดินทางฝ่าพายุร้าย พลันให้นึกถึงคำสั่งสอนของผู้เฒ่า “ความตายกับการมีชีวิตอยู่ใกล้กันเพียงนิดเดียว” ผมอาจมองโลกในแง่ร้าย “เรากำลังอยู่ใกล้ความตายบนผิวน้ำกลางที่โล่งแจ้ง” แต่การมองโลกในแง่ร้ายทำให้ผมเริ่มเรียนรู้แล้วว่านี่คือความเป็นจริง ไม่ว่าจะอยู่ ณ แห่งหนใด เวลาใด ความตายอยู่ใกล้เราตลอดเวลา แล้วผมก็เริ่มผ่อนคลายความหวาดหวั่น หวนกลับมาซึมซับความงามของสายน้ำ เกาะแก่งหินผา ภูเขา หมู่บ้านสองข้างทาง เริ่มนึกได้อีกว่าจะไปเสียเวลาอะไรไปกับการนึกถึงสิ่งอันน่าหวาดกลัวทั้งที่มันยังไม่เกิด ทำไมต้องทุกข์กับความกลัวซึ่งไม่รู้แน่ว่าจะเกิด
“เฮือเร็ว แล่นซ่าๆ ได้บอ” ผมหันไปถาม สหายแจ้ง คนอกหัก
“ข่อยบ่แม่นคนขับ ถ้าเจ้าอยากไปซ่าๆ เจ้าก็ซิได้นั่งเฮือซ่า ถ้าเจ้าฟ่าวไป เจ้าก็สิได้นั่งเฮือเร็วอย่างซี่” หลังเสียงคำตอบทำให้ต้องยุติคำถาม
เรือเร็วนำพาชีวิตของคนสี่คนสี่ความนึกคิดสี่ความมุ่งหมายในลำเดียวกัน ล่วงรู้แต่เพียงว่าชายหนุ่มวัยกลางคนชาวลาวคนขับเรือหาเลี้ยงชีพมาสิบกว่าปี เขาบอกผมว่า “ขับทุกวันจนแทบจะหลับตาขับได้” มีผู้โดยสารตกค้างขออาศัยไปด้วย เธอเดินทางพร้อมข้าวของพะลุงพะลังกับจักรยานหนึ่งคัน รู้เรื่องราวของเธอในเวลาต่อมาว่าเธอเป็นคนเชียงของ เดินทางเพื่อไปแสวงบุญแถวแขวงอุดมไซย ผู้โดยสารอีกสองคนคือผมกับสหายแจ้ง คนอกหัก เขากระซิบบอกผมก่อนออกเดินทางว่า “อยากเดินทางย้อนรอยทางประวัติศาสตร์นักปฏิวัติ อย่างอื่นก็ตามหาความฝันเพื่อลบนามสกุลคนอกหัก” ผมภาวนาในใจขอให้สหายแจ้งสมหวังอย่าได้อกหักซ้ำซากอีกต่อไป
สองชั่วโมงครึ่งถือเป็นการเดินทางเร็วกว่าปกติ นักแสวงบุญบอกผมว่ามาแล้วหลายครั้งปกติใช้เวลากว่าสามชั่วโมง ความเร็วขนาดนี้อาจเป็นสาเหตุทำให้ผมเกิดอาการหวั่นไหวในช่วงเริ่มต้นเดินทาง
ปากแบงดูเปลี่ยนแปลงมากขึ้นในเวลาผ่านไปประมาณห้าปีในฐานะเมืองทางผ่าน เป็นที่พักกลางทางของคนเดินทางก่อนไปหลวงพระบาง ทำให้สิ่งก่อสร้างเพิ่มมากขึ้น ตลาดแบกับดินเปลี่ยนเป็นตลาดคุ้นตาในเมืองไทย สินค้าลำเลียงมาจากประเทศจีนเพิ่มมากขึ้นพร้อมกับการขยายพื้นที่สัมปทานไม้เนื้อแข็งก็น่าจะเพิ่มมากขึ้น สังเกตได้ง่ายๆจากกองท่อนซูงลุกลามออกมาจากโรงเลื่อยไม้ ความสับสนอลม่านของผู้คนเพิ่มมากขึ้นจนดูน่ารำคาญใจนิดๆ
การเดินทางคลาดเคลื่อนตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้ผมกับสหายแจ้งเกิดปัญหาต่อเนื่องเรื่องการเดินทางต่อไปยังแขวงอุดมไซ
“รถคิวหมดแล้วเด้อ จะไปต่อต้องเหมาไป” แม่ค้าขายเฝอให้คำแนะนำระหว่างนั่งกินเฝอสกัดความหิว ผมสังเกตุเห็นคนเดินทางชาวลาวสามสี่คนตกรถโดยสารเช่นเดียวกัน แม่ค้าเฝอ บอกว่าเขาต้องการกลับบ้านแถวเมืองฮุนครึ่งทางก่อนถึงแขวงอุดมไชย นักแสวงบุญดูคุ้นเคยกับคนแถวนั้นเป็นอย่างดี เธอช่วยติดต่อรถโดยสารตกลงกันว่าจะออกค่าใช้จ่ายร่วมกัน มันทำให้พวกเราทั้งหมดไม่ผิดหวัง เพียงแต่ผมกับสหายแจ้งอาจต้องลุ้นเดินทางต่อ เพราะรถโดยสารจากปากแบงไปเมืองฮุนไม่ล้ำสิทธ์รับจ้างวิ่งทับเส้นทางจากเมืองฮุนไปยังแขวงอุดมไซ
ถึงเมืองฮุนในเวลาพลบค่ำต้องเดินทางต่ออีกประมาณสามชั่วโมง ถ้าพลาดคณะที่มารับอาจตัดสินใจเดินทางไปก่อน ผมกับสหายแจ้งคงต้องจัดการตัวเอง และตัดสินใจกับการเดินทางเอง
ดูเหมือนว่าเรายังโชคดีเพราะนักแสวงบุญช่วยติดต่อรถในตลาด ราคาค่าเดินทางรอบนี้สมน้ำสมเนื้อ ผมรู้สึกโล่งอกท่ามกลางความมืดมิดโอบคลุม นอกจากคนขับรถสองแถวหกล้อลำใหญ่ ผู้โดยสารทั้งคันมีเพียงผมกับสหายแจ้งมันโล่งไร้คนไร้ที่กำบัง ทำให้เราปะทะกับลมหนาวอย่างเต็มๆจนร่างกายสั่นสะท้าน ต้องรีบควักเสื้อกันหนาวอย่างหนาออกจากเป้ใส่ทับไปเป็นผืนที่สาม เมื่อร่างกายเริ่มอบอุ่นขึ้นมาบ้างผมก็เริ่มขยับไปนั่งมุมท้ายสุด มองแสงระยิบระยับของดวงดาวบนท้องฟ้าในคืนร้างเดือน ความกังวลใจลอยหายไปในสายลมหนาวอย่างไม่รู้ตัว
ในที่สุดก็เดินถึงที่นัดหมาย โรงแรมสายลมเย็น อดีตสหายนักปฏิวัติกับน้องชาวลาว มารอรับไปเจอกับเพื่อนร่วมทางคนอื่นๆในหมู่บ้าน “สบายดี ยินดีต้อนสู่ประเทศลาว เดี๋ยวซิพาไปกินข้าว” “ขอบใจหลายเด้อ” หลังทักทายทำความรู้จักผมกับสหายแจ้งขอตัวเก็บสัมภาระในห้องพัก แม้มีเวลาพอสำหรับการอาบน้ำแต่เราสองคนมิบังอาจเพราะอากาศเย็นเหลือเกิน
“สหายแจ้งเจ้ามาเฮ็ดหยัง” ผมยิงคำถามแกมหยอกล้อเป็นภาษาลาวทักทายก่อนขึ้นรถไปพบเพื่อนร่วมทาง “วัยรุ่นกำลังตามหาความฝัน” สหายแจ้งในวัย ๕๔ ปี ตอบคำถามด้วยรอยยิ้มสีหน้าเคอะเขิน
การเดินทางครั้งนี้เป็นความใฝ่ฝันมานานหลายปี เริ่มจับต้องได้จากคำบอกเล่าของพี่สาวว่ามันเป็นหมู่บ้าน เมือง ภูเขา แม่น้ำ คล้ายๆ กับภาคเหนือของไทยย้อนหลังไปซักสามสิบกว่าปี อยู่เยื้องเชียงของเหนือขึ้นไปติดกับเมืองเจียงซี มณฑลยูนานประเทศจีน กับเมืองไลเจา เดียนเบียนฟู ประเทศ เวียตนาม เดินทางจากเชียงของระยะทางไม่น่าจะเกิน ๖๐๐ กิโลเมตร ณ ดินแดนแถบนี้ในอดีตคือฐานที่มั่นกองทัพปลดปล่อยประชาชนลาวอันแข็งแกร่ง
แก้วไสว ลูกหลานนักปฏิวัติทำหน้าที่ต้อนรับคณะเดินทางทั้งหมด เขาเกิดและเติบโตที่นี่ และถือเป็นการแวะเยี่ยมเยือนครอบครัวของเขา อาหารพื้นบ้าน แกงหน่อขม อ่อมเอี่ยน หมกไก ย่างหมูป่า เรียงรายจนน้ำลายหก หลังการกล่าวคำต้อนรับทักทายเรียงลำดับจากผู้อาวุโสคนลาวเรียกว่าแนวโฮมจบครบถ้วน ปฏิบัติการตำจอกก็เริ่มต้นอย่างม่วนซื่น
“การเดินทางครั้งนี้ถือว่าเป็นการเดินทางศึกษาพื้นที่ลาวเหนือ ศึกษากระบวนการทำงานของสหพันธุ์แม่หญิงลาว ภายใต้โครงการส่งเสริมความเข้มแข็งของแม่หญิงและชุมชนความร่วมมือระหว่างไทย-ลาว” พี่สาวสรุปเป้าหมายการเดินทางกับคณะก่อนพากันกลับที่พัก
2
พวกเราออกเดินทางจากแขวงอุดมไซตั้งแต่เช้า กะไปกินข้าวมื้อแรกของวันบริเวณปากน้ำน้อยลำน้ำสาขาของแม่น้ำอูทางแยกไปแขวงพงสาลี ทางแยกแปลกตาตรงของกินพื้นบ้าน ซึ่งมักไม่ค่อยพบเห็นในบ้านเราได้ง่ายนัก โดยเฉพาะพืชผัก และสัตว์ป่านานาชนิด ยังคงวิถีของคนอยู่กับป่า
จากปากน้ำน้อยไปพงสาลีเราจะต้องเตรียมตัวเตรียมใจเดินทางบนถนนลูกรังด้วยระยะทาง๒๒๒ กิโลเมตร ไต่ระดับผ่านจุดสูงสุด ๑,๘๕๘ เมตรจากระดับน้ำทะเล ใช้เวลาเดินทางไม่ต่ำกว่า ๘ ชั่วโมง ข้อมูลเบื้องต้นรับรู้จากเพื่อนร่วมทางและแผนที่
“เส้นทางนี้สหายนักปฏิวัติจากเมืองไทยเดินทางติดต่อนักปฏิวัติในจีน” สหายแจ้งทบทวนความหลัง
“เขาไปเฮ็ดหยังสหายแจ้ง เขาหนีการถูกปราบ เขาลำบากบ่น้อ” ัเพื่อนร่วมทางลูกหลานนักปฏิวัติตั้งข้อสงสัย
“บ้างก็ไปเรียนวิชาการเมืองการทหาร บ้างก็ไปเรียนศิลปะดนตรี ติดต่อประสานงานพรรคคอมมิวนิสต์จีน บ่แม่นหนีตายเด้อ ลำ-บาก-มั่ก-มั่ก”
ผมเริ่มมองเห็นภาพความเป็นจริงจากคำบอกเล่าของพี่สาว หลังจากใช้เวลาหลายชั่วโมงเดินทางสู่พื้นที่ภาคเหนือ สู่แขวงพงสาลี มันทำให้หวนคิดถึงภูมิประเทศแถบภาคเหนือของไทยย้อนหลังกลับไปซักสามสิบกว่าปี มองเห็นความคล้ายคลึงกันต่างเวลา ผ่านการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการพัฒนาอันแตกต่างกัน พื้นที่ภาคเหนือของประเทศลาวยังคงสภาพความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้เขียวครึ้มตลอดฤดูกาล แม่น้ำใสสะอาดมองเห็นฝูงปลา พรรณพืช กรวดหิน ผืนทรายใต้ท้องน้ำ เส้นทางระหว่างหมู่บ้าน เมือง แขวง ส่วนใหญ่ยังเป็นถนนลูกรัง อาจดูเหน็ดเหนื่อยกับการเดินทาง แต่ความงามระหว่างทางช่วยผ่อนคลายความเมื่อล้า และเมื่อถึงที่หมายมันกลับจางหายไปอย่างรวดเร็ว
ถึงเมืองบุญเหนือพบทางสองแพร่งแยกไปยอดอูกับเส้นทางสู่แขวงพงสาลี คณะของพวกเราแวะพักคลายความเมื่อยล้าก่อนจะเดินทางต่อไปยังพงสาลี บุญเหนือเมืองเล็กๆในที่ราบลุ่มหุบเขา ไม่มีตึกรามบ้านช่องมากนัก เริ่มมีคนจีนเข้ามาค้าขาย ยังคงเอกลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่นได้ดี
หยุดพักได้ซักสามสิบนาทีก็เริ่มออกเดินทางต่อ ถึงทางแยกรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อก็พาเราไต่ระดับความสูงอีกครั้งรู้สึกสบายกว่าเดิมเพราะถนนลาดยางมะตอยตลอดทาง เพียงแต่แคบและคดโค้ง ต้องเดินทางไปอีก ๔๒กิโลเมตร มุ่งหน้าสู่พงสาลี
“เส้นทางสู่สรวงสวรรค์” เสียงสหายแจ้งพร่ำพรรณนา หลังอธิบายประวัติศาสตร์ชาติไทยตั้งแต่ล้านนา สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ ตลอดการเดินทางหกเจ็ดชั่วโมง
ผมเหลือบมองออกนอกหน้าต่าง เห็นภูเขาเรียงสลับซับซ้อนหนาทึบ บางช่วงปกคลุมดัวยหมอกสีขาวบางๆ ข้อมูลจากการสนทนากับเพื่อนร่วมทางทำให้รู้ว่าในพื้นที่พงสาลีมีกลุ่มชาติพันธุ์มากถึง ๒๙ กลุ่ม หนึ่งในนั้นคือชาวภูน้อย มีชื่อมาจากชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่บนภูน้อยๆ ข้อมูลทางประวัติศาสตร์บอกว่าพวกเขามีเชื้อสายมาจากมองโกล เพราะกองทัพกุบไลข่านยกทัพมาตีพุกามจนแตกแล้วเคลื่อนย้ายกำลังมาถึงพงสาลี หลังสงครามการต่อสู้สิ้นสุดลง นักรบจำนวนหนึ่งพานพบความรักกับคนที่นี่จนลงหลักปักฐานไม่ย้อนกลับแผ่นดินบรรพบุรุษ ก่อนถึงแขวงพงสาลี พวกเราจอดแวะทักทาย ถ่ายรูปบ้านหลังเล็กๆบนไหล่เขา เราพบรอยยิ้มมิตรภาพของสองแม่ลูก ผมสังเกตใบหน้าของเธอกับลูกสาวละม้ายคล้ายคลึงกับชาวมองโกลอย่างที่เคยเห็นในรูปถ่าย
ภูฟ้าพงสาลีก่อนเข้าสู่ตัวเมืองพวกเราสังเกตเห็นขบวนแถวเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจ สาวงามแต่งชุดประจำเผ่าเหมือนจะรอต้อนรับ
“โอ…เตรียมการต้อนรับพวกเราถึงขนาดนี้เชียวหรือ บ่เคยได้รับเกียรติอย่างซี้” ดูเหมือนสหายแจ้งออกอาการตื่นเต้นเพราะถูกอำจากเพื่อนสหาย รถค่อยๆชะลอจอด ทหารค่อยๆโบกมือให้รถของเราเคลื่อนออกไป “เขามาต้อนรับนักกีฬาพื้นบ้านจากทั่วประเทศ ปีนี้แขวงพงสาลีเป็นเจ้าภาพ บ่แม่นรอฮับซุมเฮาเด้อ”เพื่อนสหายเฉลยสร้างความกระจ่าง “สุดยอด…อกหักอีกแล้ว”วลีประจำการเดินทางสหายแจ้งดังลั่นอีกครั้ง
สำนักงานสหพันธ์แม่หญิงแขวงพงสาลี สถานที่นัดหมายพบปะกับท่านประธาน รองประธานสหพันธ์พร้อมคณะ เพื่อชี้แจงผลการทำงานโดยภาพรวมที่ผ่านมา ตลอดถึงการติดตามการทำงานของชาวบ้านในพื้นที่
ผมเริ่มเรียนรู้โครงการส่งเสริมความเข้มแข็งของผู้หญิงและชุมชน โครงการความร่วมมือระหว่างศูนย์กลางสหพันธ์แม่หญิง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประเทศไทย จากพี่สาวและเพื่อนสหายซึ่งทำหน้าที่ผู้จัดการโครงการ มีเป้าหมายในการส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนพึ่งตนเองด้วยการประหยัด อดออม สร้างกองทุนในการผลิตและสวัสดิการของหมู่บ้านที่เรียกว่า “กลุ่มท้อนเงิน”
ภายหลังจากการดำเนินการผ่านไปสามปี สมาชิกกลุ่มท้อนเงินสามารถนำเงินไปใช้สำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น การทำนาจนสามารถยุติการขายข้าวเขียว แก้ปัญหาหนี้สินนอกระบบ เลี้ยงสัตว์ งานหัตถกรรมจากไม้ไผ่ ทอผ้า ยกระดับจัดตั้งกองทุนสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือสมาชิก และสวัสดิการของหมู่บ้าน ขยายผลได้มากถึง ๒๐๒ กลุ่ม ๑๒ เมือง ๕ แขวง เกิดกระบวนการเรียนรู้ระหว่างประเทศทั้งกิจกรรมของโครงการฯ และกิจกรรมการถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศซึ่งมีประวัติศาสตร์ร่วมมาอย่างยาวนาน และสิ่งที่น่าภาคภูมิใจลึกๆ แม่หญิงลาวได้แสดงบทบาทการเป็นผู้นำสร้างสรรค์สังคมได้สมศักศิ์ศรี
“ขอแสดงความยินดีที่ประเทศไทยได้สนับสนุนงานพัฒนาในลาว ผลจากการทำงานที่ผ่านมาประชาชนมีความยินดีและดีใจ หน่วยงานต่างๆในลาวก็ยินดี ให้ความสำคัญกับโครงการ และอยากให้โครงการขยายผลไปทั่วประเทศ ขอให้ฮักแพงกันต่อไปเด้อ” จันสุข ลีลาวง ประธานสหพันธ์แม่หญิงแขวงพงสาลี
“โครงการเคารพต่อธรรมเนียมประเพณี ทำงานกับชาวบ้านอย่างเป็นกันเอง เป็นเหมือนครอบครัวเดียวกัน ทำให้สหพันธ์แม่หญิงได้รับบทเรียนของการเรียนรู้ มีความมั่นใจ และมีกำลังใจในการทำงาน” เป็ง อรขัน รองประธานสหพันธ์แม่หญิงแขวงพงสาลี
“ความจริงประเทศลาวบ่ได้ยากจน แต่ประเทศลาวเป็นประเทศร่ำรวยทรัพยากรธรรมชาติ โครงการเป็นเพียงกิจกรรมหนึ่งที่จะช่วยกันพัฒนาเรื่องการบริหารจัดการการเงิน อย่างมีคุณธรรม เพื่อกองทุนส่งเสริมอาชีพในท้องถิ่น สร้างสวัสดิการแก่ประชาชน หวังว่าโครงการจะยั่งยืนพร้อมกับความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติภายใต้การพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กับจีน เวียดนาม และไทย ซึ่งกำลังเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นหวังว่าโครงการฯจะสร้างความสัมพันธ์อันมั่นยืนของประชาชน ไทย- ลาว ตลอดไป” พี่สาวแสดงความคิดเห็นก่อนยุติการสนทนา
องค์การจัดตั้งมหาชนภารกิจหลักของศูนย์กลางสหพันธ์แม่หญิงลาว ถือเป็นการให้ความสำคัญแก่บทบาทผู้หญิงต่อกระบวนการมีส่วนร่วมในการทำงานเชิงนโยบายของประเทศ โดยมีการจัดโครงสร้างการจัดตั้งทำงานอย่างเป็นขั้นตอน จากหมู่บ้าน เมือง แขวง และศูนย์กลางสหพันธ์แม่หญิงนครหลวงเวียงจันทร์ เพราะนโยบายการพัฒนาประเทศของลาวเชื่อมั่นว่า ความละเอียดอ่อนของผู้หญิงเป็นจุดเด่นต่อการทำงานประสานความร่วมมือแนวราบ กับประชาชน องค์กรสมาชิกของพรรค องค์กรของรัฐ และองค์การระหว่างประเทศ
โครงการส่งเสริมความเข้มแข็งของแม่หญิงและชุมชน เป็นกิจกรรมหนึ่งในความผูกพันข้ามพรมแดน อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาอันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างเท่าเทียม การศึกษาเรียนรู้ถึงความหลากหลายทางชาติพันธ์กับความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม การดำรงไว้ซึ่งวิถีแบบพอเพียงทั้งในเมืองและชนบท ปลุกจิตสำนึกกับสังคมเพื่อก้าวไปสู่ความร่วมมือในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนในอนุภาคลุ่มน้ำโขง
หลังการประชุม เอื้อยเป็ง อรขัน ชักชวนพวกเราไปรู้จักกับครอบครัวที่บ้านพร้อมกับอาหารเย็น เวลาแห่งมิตรภาพไม่มีใครคิดปฏิเสธ จอกมิตรภาพถูกบรรจุด้วยเหล้ากลั่นสีเขียวซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในลาว เป็นส่วนผสมของสมุนไพรสีเขียว จนทำให้สหายแจ้งอดไม่ได้ที่จะขับขานเพลงปฏิวัติของลาวในความทรงจำมิอาจลืม
เมฆหมอกมืดมัวทั่วแนวหน้า มืดหัวมัวตาแต่สองมือกำปืนยืนจ้อง เกียมพร้อมหน้าที่พิทักษ์เพื่อปกปักประชาพี่น้อง เพื่อคนลาวทั้งผองเป็นเจ้าของดินแดนอาณา แนวหน้าหน่วงหนาวกาเวาฮ้อง เป่งเสียงนันนองซ่วยปกป้องทั่วท้องพนา ซ่วยให้ป่าดงพงไพรนกหนูได้บินไปไต่มา โซคดีบินโบยโบกฟ้าภาพเต็มตาซ่วยซูหัวใจ ส่งเสียงเพลงแทนกายพวกอ้ายขออวยพอนไซเถิงปวนใจน้องนางแนวหลัง แม้หากคิดฮอดกันหน้าที่นั้นแนบใจฝากฝัง ไกลกายแต่ใจเคียงกันขออุดมการณ์อันเดียวกัน ราตรีแนวหน้า-จันทร์ดาวแจ้ง เป่งแสงประกายอาบทาไปทั่วฐานที่มั่น ในจิตเฮาสดซื่นได้ยืนอยู่ภูมิฐานถิ่นนั้น เป็นเกียรติประวัติการณ์มอบซีวันเซิดซูซาดลาว มอบซีวัน-เซิดซูซาดลาว...
บทเพลงที่ร้องกันได้ถ้วนหน้า ยกเว้นผมกับพี่สาวทำได้เพียงแค่ตบมือ ฟ้อนรำ แต่รู้สึกได้ว่ามันชั่งกลมกลืนกับบรรยากาศในแผ่นดินแห่งการปลดปล่อย และค่ำคืนนี้ก็จบลงพร้อมกับความประทับใจอีกครั้ง
รุ่งเช้าก่อนที่พี่สาวและทีมงานเพื่อนสหายจะออกปฏิบัติภารกิจกับกลุ่มแม่หญิง ผมพอมีเวลาเก็บภาพบรรยากาศของเมืองซึ่งตั้งอยู่บนสันเขา เดินลัดเลาะเข้าไปในตลาดซึ่งเต็มไปด้วยพืชผักสวนครัวอวบเขียว ของป่า แวะทักทายผู้คนก่อนจะขึ้นไปบนยอดสูงสุด
ภูฟ้ายอดดอยสูงสุดเหนือตัวเมืองพงสาลี มีหนองน้ำกินนรีอยู่บนยอดดอยใกล้ๆ ด้านหลังเคยมีเรื่องเล่าว่า เหล่าบรรดานางฟ้ามักลงมาอาบน้ำเป็นประจำ จนกระทั่งวันหนึ่งมีชายหนุ่มแอบมาเห็นโดยบังเอิญเหล่าบรรดานางฟ้าจึงเนรมิตภูฟ้าเป็นม่านบังตาชายหนุ่ม เมื่อเราอยู่บนภูฟ้าก็ไม่แน่ว่าเราจะมีโอกาสได้เห็นความงามของเมืองได้ตลอดเวลา เพราะเมฆหมอกไม่แน่ไม่นอน ผมจึงได้ยินคำเปรียบเปรยจากแม่หญิงลาวว่า “อย่าเซื่อใจพ่อค้า อย่าเซื่อท้องฟ้าพงสาลี”
และมีเรื่องราวบันทึกใว้ให้คนขึ้นมาสักการะพระธาตุเป็นภาษาลาว พอสรุปใจความได้ว่า ผู้คนที่เดินทางมาถึงกลุ่มแรกประมาณพันกว่าครอบมีเชื้อสายมาจากธิเบต พม่า เชียงใหม่ เชียงแสน เรียกชื่อโดยรวมว่า “ไทตะปาด” เดิมตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เวียงภูคาแขวงหลวงน้ำทาในปัจจุบัน พวกเขาเริ่มอพยพโยกย้ายด้วยการลัดเลาะตามลำน้ำสาขาจนบรรจบแม่น้ำอู เดินทางขึ้นตามแม่น้ำอูจนถึงยอดสูงสุดในป่าทึบพวกเขาเรียกที่แห่งนี้ว่า “ปัวฟุบ”แปลว่าที่สูงที่สุด จนเวลาผ่านไปเจ็ดชั่วคน มาถึงยุคล่าอาณานิคม ฝรั่งเศสได้เปลี่ยนชื่อเป็นภูฟ้า
เมื่อยืนอยู่บนภูฟ้าในเวลาฟ้าเปิดจะเห็นอาคารบ้านเรือนเรียงรายอยู่ตามสันเขา ขณะม่านหมอกบางๆเคลื่อนผ่านเหมือนเป็นบ้านสายหมอก หากมองได้ไกลไปกว่านั้นจะเห็นเทือกเขาเมืองสิงห์เหมือนสิงค์โตกำลังนอนกินอาหารอย่างมีความสุข ยามค่ำคืนมาเยือนพงสาลีกลายเป็นเมืองใกล้ฟ้าใกล้ดาวใกล้เดือน
ชั่วเวลาวันกว่าๆเราอาจเรียนรู้เพียงบางสิ่งบางอย่างได้ไม่มากนัก แต่มันก็รู้สึกดีจนทำให้คิดถึงใครอีกหลายคนผมบอกกับพี่สาวว่าอยากเดินจูงมือคนที่เรารัก เดินทางมาเห็นความงามอย่างที่เรากำลังมองเห็น…
หลังอาหารเที่ยงพวกเราก็เริ่มออกเดินทางต่อย้อนกลับทางเดิมไปยังบุญเหนือก่อนจะมุ่งหน้าไปยังเมืองยอดอูเหนือสุดของประเทศลาวติดกับชายแดนจีนเขตมณฑลยูนาน
3
“ยอดอู ยอดน้ำ ยอดคน” วาทะส่งท้ายสำหรับการกล่าวต้อนรับของเจ้าเมืองยอดอูก่อนการตำจอกเหล้าต้มเทด้วยมือเจ้าเมืองให้กับทุกคนจนล้นปลิ่มรอบแล้วรอบเล่า ในค่ำคืนแห่งมิตรภาพอันมิอาจปฏิเสธ ทำให้ผมออกอาการคลื่นใส้ จนต้องแอบไปอวกหลายครั้ง
ยอดอูในอดีตคือส่วนหนึ่งของสิบสองปันนา ประกอบไปด้วยเมืองอูมคำ เมืองนางแมว อูใต้ อูเหนือ มีเชื้อสายชาวลื้อ ดำรงวิถีการเกษตรการพึ่งพาสายน้ำป่าเขา ในยุคฝรั่งเศสเรืองอำนาจที่นี่จึงขึ้นอยู่ภายใต้การดูแลของลาวจนถึงปัจจุบัน แต่ยังคงวิถีแบบดั้งเดิมสภาพบ้านเรือนรักษาเอกลักษณ์รูปทรงโบราณ มีลักษณะเป็นบ้านหลังใหญ่ยกพื้นสูง โครงสร้างหลักใช้ไม้เนื้อแข็ง ฝาบ้านใช้ไม้ไผ่ขัดแตะ หลังคากระเบื้องดินเผา
พื้นที่ราบลุ่มรายล้อมด้วยขุนเขาทั้งหมดคือต้นน้ำอู ที่ตั้งของเมืองอยู่ในบริเวณแม่น้ำแดงไหลมาบรรจบกับแม่น้ำอู เมืองยอดอูจึงมีชื่อมาจากต้นน้ำอู ต้นทุนชีวิตลูกสาวแม่น้ำโขง
ในอดีตการเดินทางมายอดอูต้องเดินด้วยเท้าอย่างอดทน ยอดคนในความหมายของเจ้าเมืองเป็นทั้งยอดคนหากดั้นด้นมาเยือน ยอดคนเมืองยอดอูกับการดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว
เป็นอีกเมืองหนึ่งทำให้ผมเรียนรู้การทำงานของสหพันธ์แม่หญิง พี่สาวบอกว่าพวกเขาทำงานอย่างแข็งขัน พวกเขาสร้างกลุ่มออมทรัพย์จนสามารถตั้งกองทุนสวัสดิการให้กับชุมชน เป็นตัวอย่างให้กับเมืองอื่นๆ “เป็นห่วงอย่างเดียวหากชายแดนเดินทางสะดวกมากขึ้นวิถีอาจต้องเปลี่ยนแปลง ถ้าจะเปลี่ยนแปลงไปอยากให้คนที่นี่รู้เท่าทัน”
ผมครุ่นคิดในใจเราคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเปลี่ยนแปลง สู่อนาคตของความรุ่งเรืองทางวัตถุ เมื่อเครื่องมือติดต่อสื่อสารทันสมัย เมื่อผู้คนมีอิสระในการเดินทางได้มากยิ่งขึ้นเส้นทางคมนาคมสะดวกมากยิ่งขึ้น และมันจึงมิใช่เรื่องต้องจำกัดอิสรเสรี เพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้คนแสดงความเคารพต่อขนบธรรมเนียมของท้องถิ่นนั้นๆเมื่อเดินทางไปถึง เป็นการเดินทางเพื่อเรียนรู้ไม่เอารัดเอาเปรียบไม่แสวงผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ มันอาจทำให้วิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
ก่อนเดินทางกลับจากยอดอูคิดได้เพียงว่าหากมีโอกาสได้กลับมาเยือน ขอให้ยอดอูอย่าเปลี่ยนแปลงไปมากกว่านี้ อย่าเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับการพัฒนาเดินตามกระแสทุนนิยม เดินตามหลังประเทศเพื่อนบ้านซึ่งกำลังเดินตามหาวิถีแบบพอเพียง..
ดูเหมือนว่าการสนทนาระหว่างเดินทางทำให้ผมกับสหายแจ้ง สนิทสนมกับเพื่อนร่วมทางชาวลาวอย่างรวดเร็วแม้จะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน โดยเฉพาะสหายแจ้งกับเพื่อนสหายแลกเปลี่ยนเรื่องราวการต่อสู้ในป่าอย่างเมามัน ตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคมของฝรั่งเศส สงครามอินโดจีนนำโดยอเมริกา การกดขี่ ช่วงชิงอำนาจกันเอง ทำให้คนลาวต้องสังเวยชีวิตนับหมื่นนับแสนคน กองทัพปลดปล่อยใช้เวลายาวนานหลายสิบปีกว่าจะสามารถทำการปลดปล่อยประชาชน
“สหายแจ้ง คนอกหัก ตอนเจ้าเข้าป่าเจ้าเคยฆ่าฝ่ายตรงข้ามบ่”เพื่อนสหายสอบถาม
“แม้แต่มดก็ยังบ่กล้าฆ่า ยิงปืนขึ้นฟ้าลูกเดียว สุด–ยอด”เพื่อนสหายหัวเราะจนแก้มปริ
เพื่อนสหายทำหน้าที่สารถี สหายแจ้งยังคงทำหน้าที่นักประวัติศาสตร์ พวกเราที่เหลือกลายเป็นนักเรียนโดยธรรมชาติ มีรถกับบรรยากาศรอบข้างเป็นห้องเรียน ไม่ต้องเสียค่าลงทะเบียนเรียน ไม่ต้องสอบวัดผลคะแนน แต่มีเรื่องกระจ่างแจ้งควรจะจดจำคือความสำเร็จจากการต่อสู้ของกองทัพปลดปล่อยประชาชนลาวกับอาการอกหักของสหายแจ้ง