ความท้าทายของ”นักสื่อสารชายขอบ”ในสมรภูมิสื่อ 4.0

ที่ผ่านมา ‘ข่าวชายขอบ’ อันเกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนทุกข์ยากของชาวบ้านตัวเล็กตัวน้อย ไม่ว่าจะเป็นชาวเขาบนดอยสูงทางภาคเหนือ เกษตรกรภาคอีสาน ชาวนาภาคกลาง ชาวประมงภาคใต้ ตลอดจนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่ห่างไกล มักถูกทอดทิ้ง หลงลืม ไม่ให้ความสำคัญจากสื่อกระแสหลัก สังคมรับรู้ข้อมูลข่าวสารของพวกเขาน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เสียงของพวกเขาจึงไม่เคยถึงสาธารณชนวงกว้าง

ยิ่งในวันที่วงการสื่อกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เทคโนโลยีรุดหน้าอย่างรวดเร็ว บวกกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ส่งผลกระทบต่อรายได้ของสื่อมวลชนทุกสำนัก ตามมาด้วยนโยบายรัดเข็มขัด ตัดงบประมาณในการลงพื้นที่ หันมาเน้นเล่นข่าวกระแสสังคมออนไลน์ ผลคือ ไม่มีนักข่าวลงพื้นที่ คนชายขอบก็ยิ่งถูกลืมเลือน

ทั้งหมดนี้ทำให้องค์กรพัฒนาเอกชนหลายแห่งตัดสินใจพึ่งตัวเองด้วยการสร้างนักสื่อสารขึ้นมา โดยมีจุดแข็งคือ การคลุกคลีกับปัญหาในพื้นที่อย่างลึกซึ้งและต่อเนื่อง เข้าถึงแหล่งข้อมูลเชิงลึก แต่ที่ผ่านมาการสื่อสารเป็นไปในลักษณะประชาสัมพันธ์การทำงานขององค์กรมากกว่า มีการสื่อสารกันเองแค่ในเฉพาะกลุ่ม ทั้งยังขาดทักษะด้านการสื่อสารอย่างมืออาชีพ ขาดเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัย ทำให้ข้อมูลข่าวสารสำคัญยังตกหล่น ไม่น่าสนใจ ไม่สามารถเข้าถึงการรับรู้ของสังคม

เมื่อวันที่ 15-16 กันยายน พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดกิจกรรม “โครงการพัฒนาศักยภาพและทักษะนักสื่อสารในภูมิภาคและพื้นที่เปราะบาง” ณ โรงแรม VIC 3 (วิก ทรี) สนามเป้า พหลโยธิน ซอย 3 โดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กิจกรรมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมจำนวน 45 คน ประกอบด้วยสื่อมวลชนอิสระ สื่อมวลชนจากส่วนกลาง นักสื่อสารองค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำข่าวชายขอบให้สื่อสารสู่สาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ภายในงานมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาบรรยายเรื่องความเปลี่ยนแปลงของวงการสื่อโลกและสื่อไทย นอกจากนี้ยังมีกระบวนการพูดคุยระหว่างนักสื่อสารชายขอบ เพื่อระดมความคิดและประสบการณ์ในสนามข่าวภูมิภาคและพื้นที่เปราะบาง

สื่อมวลชนยุค 4.0

ภาสกร จำลองราช ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวชายขอบ กล่าวว่า โจทย์สำคัญที่สุดในการจัดงานครั้งนี้คือ การหาพื้นที่ใหม่ของการสื่อสารอย่างมีพลังของภาคประชาชน แม้ที่ผ่านมาจะยังมีพื้นที่สื่อสารเดิม แต่ปัญหาที่พบคือ การสื่อสารของคนเล็กคนน้อยยังไม่ลุ่มลึกเท่าที่ควร นอกจากนี้มีแนวโน้มว่ากลุ่มทุนที่ผลิตสื่อกระแสหลักยังเข้าสู่ภาวะวิกฤต อีกทั้งยังมีปัญหาด้านจริยธรรมสื่อ ดังนั้นเสียงของชาวบ้านยิ่งถูกสื่อสารออกมาได้อย่างยากลำบากขึ้น

“ปัจจุบันข่าวชาวบ้านที่นำเสนอในพื้นที่ยังเบาบางและไม่เจาะลึก ไม่สามารถทะลุไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ การชวนมานั่งคุยครั้งนี้ก็เพื่อทบทวนว่า จะสร้างพื้นที่การทำงานร่วมกันอย่างไร เพื่อให้การสื่อสารภาคประชาชนมีพลังขึ้น ทำอย่างไรที่จะทำให้ข่าวมีแรงกระเพื่อมจากปรากฏการณ์เล็กๆสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ในระดับนโยบาย”

ขณะที่ ภัทระ คำพิทักษ์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ มองว่า ปัจจุบันแม้ช่องทางสื่อสารเปลี่ยน ผู้ส่งสารเปลี่ยน แต่สิ่งที่ไม่มีวันเปลี่ยนคือ ข้อมูลข่าวสาร

“เมื่อก่อนมีแต่นักข่าวที่เป็นคนพูด ตอนนี้สังเกตว่าสื่อมวลชนที่เป็นตัวกลางเริ่มตาย ช่องทางสื่อสารก็เปลี่ยน จากเคยมีแต่ไทยรัฐ เดลินิวส์ ตอนนี้ทุกคนมีทางหลวงโลกคือเฟซบุ๊ก แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนคือข่าวสาร เช่น หรือเจ้าของร้านซักรีดที่เชียงรายจู่ๆก็ดังขึ้นมาได้ในช่วงกระแสข่าวถ้ำหลวง หรือใครที่ถือข้อมูลเรื่องนกเงือกถูกขโมยจากขบวนการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายก็จะเป็นคนสำคัญ เพราะเป็นเจ้าของประเด็น เขาอยู่ในพื้นที่ ไม่มีใครรู้เท่าคนในพื้นที่ ตอนนี้ช่องทางสื่อสารเปลี่ยน ก็ต้องมานั่งคิดว่าจะสื่อสารออกมายังไงให้มีพลังและน่าสนใจ”

ด้าน ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวรายการข่าวสามมิติ ยกตัวอย่างกรณีการชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลาว่า การลงพื้นที่ทำข่าวคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานั้น เกิดจากชาวบ้านที่อยู่ในเหตุการณ์เป็นคนแชร์ข้อมูล ภาพถ่าย และคลิปวีดีโอ ซึ่งในฐานะนักข่าวส่วนกลางจึงหยิบเอาประเด็นเหล่านั้นมาแชร์ต่อทางเฟซบุ๊ก จนได้รับความสนใจในวงกว้าง สะท้อนให้เห็นว่า เจ้าของข้อมูลซึ่งเป็นคนในพื้นที่นั้นสำคัญมากต่อบทบาทการเสนอนำข่าวในปัจจุบัน

“เราเป็นนักข่าว เคยถูกเรียกว่าสื่อกระแสหลัก แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นเพจดังที่เป็นกระแสหลักไปแล้ว เพราะว่าประเด็นต่างๆนั้นมาจากคลิปวีดีโอ มาจากการแชร์กันในเพจต่างๆ สมัยก่อนคนถือข้อมูลในพื้นที่ เขารู้ลึก รู้จริง ก็จะส่งเรื่องให้เรามาขยายทำข่าวต่อ แต่เดี๋ยวนี้แหล่งข่าวที่เราเคยสัมภาษณ์เริ่มสื่อสารด้วยตัวเองแล้ว เปิดเฟจเฟซบุ๊กเอง ถ่ายคลิป ตัดต่อเอง รายงานเหตุการณ์ด้วยตัวเองเลย” “ขาดทักษะ-ขาดงบประมาณ-สวมหมวกหลายใบ”

อุปสรรคของคนทำงานในพื้นที่เปราะบาง แม้ผู้ที่ทำงานด้านองค์กรพัฒนาเอกชน หรือแกนนำชาวบ้านในพื้นที่เปราะบางจะเริ่มสร้างนักสื่อสารกันเอง ตั้งแต่ลงพื้นที่เก็บข้อมูล สัมภาษณ์ เขียนข่าว บทความ ถ่ายคลิปวีดีโอ รวมทั้งเปิดเว็บไซต์หรือเพจเฟซบุ๊ก เพื่อเป็นสื่อกลางในการสื่อสารประเด็นสู่สาธารณะ ทว่ายังต้องเผชิญอุปสรรคปัญหามากมาย

ยกตัวอย่างเช่น ภาระหน้าที่หนักอึ้ง ทำงานหลายหน้าที่ แต่เงินเดือนเท่าเดิม ทำให้ไม่มีงบประมาณในการซื้อเครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัย บางคนถึงกับต้องขายบ้านมาซื้อกล้องมือถือเพื่อทำคลิปวีดีโอ บางคนใช้วิธีประดิษฐ์ขาตั้งกล้องเองจากวัสดุใกล้ตัว บางคนไม่มีแม้แต่เงินจ่ายค่าอินเตอร์เน็ต ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ขณะเดียวกันก็ขาดทักษะความเชี่ยวชาญด้านการทำงานสื่อ เช่น เขียนข่าวไม่เก่ง ตัดต่อคลิปวีดีโอ ทำกราฟฟิกไม่เป็น ไม่มีเวลาเดินทางไปเข้าอบรมพัฒนาทักษะด้านการทำสื่อตามงานต่างๆ ท้ายที่สุดข่าวที่ทำก็ไม่น่าสนใจ ไม่น่าติดตาม และถูกเผยแพร่อยู่ในวงแคบๆ ไม่ถูกหยิบยกต่อยอดไปยังสาธารณชนวงกว้าง

ขณะเดียวกันอีกปัญหาที่พบคือ การถูกข่มขู่คุกคามจากภาครัฐและนายทุน นักสื่อสารชายขอบไม่เหมือนกับผู้สื่อข่าวมืออาชีพที่มีป้ายนักข่าว อยู่ภายใต้สังกัดองค์กรใหญ่ มีทีมงานคอยช่วยเหลือ มีที่ปรึกษาด้านกฎหมาย นักสื่อสารชายขอบแทบทุกคนต้องทำแทบทุกอย่าง ตั้งแต่อ่านงานวิจัย ลงพื้นที่สัมภาษณ์เก็บข้อมูล รายงานข่าว เขียน ถ่ายภาพหรือวีดีโอ ตัดต่อเอง หลายครั้งต้องเผชิญกับการถูกข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดนนายทุนขู่ฟ้อง ใช้อิทธิพลมืด จนถึงใช้วิธี Cyber Bullying

เกรียงไกร แจ้งสว่าง ตัวแทนกลุ่มรักษ์เชียงของ ผู้ทำงานเรื่องการแก้ไขปัญหาแม่น้ำโขง เผยว่า ที่ผ่านมาทางกลุ่มมีช่องทางสื่อสารคือ เว็บไซต์และเฟซบุ๊ก แต่ปัญหาคือ เจ้าหน้าที่ถนัดเก็บข้อมูลมากกว่าการสื่อสาร

“พวกเราสามารถทำสื่อในพื้นที่ได้ ลงภาคสนามสัมภาษณ์แหล่งข้อมูลได้ แต่ด้วยความที่ข้อมูลเยอะมาก ก็ไม่รู้ว่าจะหยิบอะไรออกมาสื่อสาร ทำให้ที่ผ่านมาเรายังต้องพึ่งพาสื่อมวลชนจากส่วนกลาง ชักชวนลงพื้นที่มาทำข่าว อำนวยความสะดวกเรื่องข้อมูล แทนที่จะทำด้วยตัวเองได้”

วิทวัส เทพสง เครือข่ายเพื่อสังคมที่เป็นธรรม กล่าวว่า ปัญหาที่ผ่านมาคือ ทำงานไม่ต่อเนื่อง “ผมพยายามดึงเด็กรุ่นใหม่ๆเข้ามาร่วมทีมนักสื่อสารชายขอบ พาไปอบรมเรื่องเทคนิคการทำสื่ออยู่เรื่อยๆ แต่เหมือนทำแล้วหายไป หลายครั้งเราถอดบทเรียนว่าทำไมถึงทำได้ไม่ต่อเนื่อง ก็พบว่าศักยภาพเราไม่พอ ทั้งงบประมาณที่ขาด เครื่องไม้เครื่องมือไม่มี หลักสูตรการสื่อสาร ทำให้น้องๆหมดกำลังใจ ไม่มีจิตสำนึกในการสร้างสื่อ ไม่มีอินเนอร์ในการทำ”

ขณะที่ ทวีศักดิ์ มณีวรรณ์ เครือข่ายสมาพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กล่าวว่า รัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็มีส่วนทำให้ทำงานยากลำบาก “อุปสรรคปัญหาคือ บุคลากรเรามีน้อย ซึ่งที่มีอยู่ก็เจอข้อจำกัดเรื่องอายุมาก แถมต้องทำงานหลายหน้าที่ ก็เลยอยากหาคนรุ่นใหม่ๆมาเพิ่ม เพื่อที่จะได้ทำอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้รัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็ทำให้เราทำงานยากเวลานำเสนอข่าว เช่น มีการนำเอากฎหมายมาควบคุม เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.ชุมนุม โดนขู่ฟ้อง ขู่เอากฎหมายมาเล่นงาน เราก็พยายามแก้ปัญหาด้วยการหาที่ปรึกษาทางกฎหมาย”

อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปที่ได้จากการประชุมหารือระหว่างนักสื่อสารชายขอบในพื้นที่ต่างๆ แนวทางแก้ไขปัญหามีอยู่ 3 ประเด็นใหญ่ๆ ดังนี้ บุคลากร ส่วนใหญ่อยากให้มีการสร้างคนที่จะมาทำหน้าที่นักสื่อสารโดยตรง โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ไฟแรง ผู้มีความสนใจด้านการทำสื่อและเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ งบประมาณ สำหรับซื้ออุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือสื่อสารที่จำเป็น เช่น กล้องถ่ายรูป หรือโทรศัพท์มือถือสำหรับถ่ายรูปและทำวีดีโอได้ อุปกรณ์อื่นๆ เช่น ขาตั้งกล้อง ไมโครโฟน ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตไวไฟ เป็นต้น

กิจกรรมฝึกอบรม ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญมากในการพัฒนานักสื่อสารชายขอบ จุดแข็งของคนทำงานในพื้นที่คือ การเก็บข้อมูลภาคสนาม การเข้าถึงแหล่งข่าว แต่จุดด้อยคือ เขียนข่าวไม่เป็น สื่อสารไม่เก่ง ไม่รู้วิธีที่จะเขียนเรื่องราวให้น่าสนใจ ทำยังไงให้คอนเทนต์โดดเด่น ได้ความรู้ และเป็นที่สนใจแก่สังคมวงกว้าง

ดังนั้นการมีกิจกรรมฝึกอบรมโดยผู้สื่อข่าวมืออาชีพ สอนเรื่องการทำคอนเทนต์ การถ่ายภาพ ถ่ายคลิปวีดีโอ รวมถึงการสร้างเครือข่ายผ่านทางโซเชียลมีเดีย เป็นเรื่องที่ควรเกิดขึ้นบ่อยๆ เพราะนอกจากจะได้ความรู้ใหม่ๆ ยังได้พบปะแลกเปลี่ยนกับพี่น้องคนทำงานชายขอบในพื้นที่อื่นๆด้วย

นี่คือโจทย์ท้าทายที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพนักสื่อสารชายขอบให้สามารถรายงานข้อมูลข่าวสารให้พื้นที่ออกสู่สังคมได้อย่างมีพลังมากกว่าที่เป็นอยู่.

ที่มา สำนักข่าวชายขอบ : http://transbordernews.in.th/home/?p=19442&fbclid=IwAR1qRGfjB4W3fnEPgQg2sqOxWIL9yOKTsy-5QWJnO4iouHNGxK4J5aaI6nI .

More to explorer