ใต้ขอบฟ้าชายคาโลก

โดย สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา

ท่ามกลางความหนาวต้นฤดูใบไม้ผลิบนชายขอบชายคาโลกกับการเดินตามความฝันใกล้ต้นกำเนิดแม่น้ำโขงครั้งแรกของชีวิต..

เครื่องบินลดระดับความสูงเมื่อใกล้ถึงปลายทาง ผมมองเห็นเทือกเขายังคงถูกปกคลุมไปด้วยหิมะ และเริ่มสัมผัสความเปลี่ยนแปลงอันน่าตื่นเต้น เพราะพึ่งผ่านความเร่าร้อนเดือนมีนาคมในประเทศไทย เครื่องร่อนลงจอดบนรันเวย์เหมือนแหวกลงกลางฝูงจามรีในทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ ขณะพวกมันกำลังและเล็มหญ้าอย่างเพลิดเพลิน เพียงก้าวเท้าออกจากประตูอากาศเย็นยะเยือกก็รุมเข้ามาโอบล้อม 

 จงเตี้ยน เมืองใหญ่ในดินแดน ซัมบารา  ตามคำเรียกขานของชาวธิเบตหรือที่รู้จักในนามแชงกรี-ลา จากนวนิยาย Lost Horizon อันหมายถึง “ดินแดนแห่งความสงบสุข” แถบรอยต่อทิเบต-ยูนนาน-เสฉวน คืออาณาบริเวณทั้งหมดของดินแดนแห่งความฝันของใครหลายคน

“เราจะใช้เวลาอยู่ที่นี่สองวันเพื่อเล่าเรื่องราวสถานการณ์แม่น้ำโขงตอนล่าง และจุดยืนการทำงานของพวกเรา มีเพื่อนชาวจีนรอเราอยู่”หญิงสาวผู้นำทางเริ่มบอกกล่าวภารกิจ

ความหนาวเย็นและแปลกหูแปลกตาทำให้พวกเราตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา จงเตี้ยนมีพื้นที่ราบกว้างใหญ่ท่ามกลางภูเขาสูงอยู่ติดกับทะเลสาบ ชาวธิเบตในหมู่บ้านริมทะเลสาบเล่าให้ฟังว่าน้ำในทะเลสาบส่วนหนึ่งมีรูไหลลอดลงสู่แม่น้ำแยงซีเกียง ทุ่งหญ้ารอบทะเลสาบเป็นที่เลี้ยงฝูงจามรี ดูจะเป็นสัตว์เลี้ยงหนึ่งในไม่กี่ชนิดที่ปรับตัวให้ทนกับสภาพความหนาวเย็นตลอดทั้งปี  จามลีเป็นทั้งแรงงานและเนื้อสัตว์สำหรับบริโภค ป่าสนรอบหมู่บ้านเป็นไม้ใช้สอยทำฟืน และสร้างบ้านเรือน  

จินรุน เพื่อนชาวจีน นำคณะพวกเราเข้าไปยังบ้านผู้นำเขาต้อนรับด้วยการคล้องผ้าสีขาวตามธรรมเนียม บ้านหลังใหญ่ภายในกำแพงสูงบ้านของชาวธิเบตจะมีลักษณะเหมือนกันทั้งหมู่บ้าน มองจากด้านนอกจะเห็นกำแพงสูงเหมือนป้อมค่ายมองเห็นตัวบ้านครึ่งหลัง ผ่านซุ้มประตูเข้าไปเป็นลานหน้าบ้าน ตัวบ้านปลูกติดกำแพงด้านหลัง ชั้นล่างเป็นที่อยู่ของจามลี ชั้นบนภายในตัวบ้านเป็นห้องพระ กองไฟอยู่ตรงกลาง ให้ความอบอุ่นพร้อมกับเป็นห้องครัว ล้อมด้วยห้องนอน    

วงสนทนารอบกองไฟเริ่มต้นด้วยรอยยิ้มของเจ้าของบ้านกับเพื่อนชาวจีน พวกเราพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องงานด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างองค์กรพัฒนาเอกชน ไทย-จีน กับความร่วมมือในการศึกษาปัญหาจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบนโดยหยิบยกเรื่องงานวิจัยไทยบ้าน เป็นงานบุกเบิกลงพื้นที่หาข้อเท็จจริงจากชาวบ้านในพื้นที่ต้นน้ำ

หลังเสร็จภารกิจในจงเตี้ยนพวกเราใช้เวลาเลือกซื้อของใช้ที่เพื่อนชาวจีนห่วงใย เสื้อกันหนาวอย่างหนา และชุดแนบเนื้อข้างใน รองเท้าเดินเขา ถุงมือ

“ไม่รู้ว่าเสื้อกันหนาวที่เราซื้อ จะมีโอกาสได้ใส่ในหน้าหนาวบ้านเราหรือเปล่า”เพื่อนคงเสียดายเงินในกระเป๋าเพราะมีโอกาสได้ใส่เฉพาะอาณาบริเวณแห่งนี้

“ ช่างมันเถอะ ดีกว่าทรมานกับความหนาวที่เราไม่คุ้นเคย”หญิงสาวผู้นำทางส่งเสียงเตือนอย่างขึงขัง

สองวันสองคืนในจงเตี้ยน ร่างกายของผมไม่มีโอกาสสัมผัสน้ำยกเว้นใบหน้า และรู้สึกว่าจะไม่มีโอกาสอีกหลายวัน ค่ำคืนก่อนออกเดินทางผมนั่งนึกถึงอิสรภาพของชาวธิเบต กับการดูแลมิตรสหายของเพื่อนชาวจีน ก่อนหน้านี้ผมมีอคติกับคนจีนกับการพัฒนาที่ส่งผลกับการเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขง ผมเห็นเพื่อนชาวจีนเอาใจใส่ดูแลห่วงใยชาวบ้าน พวกเขาพูดถึงสิทธิและเสรีภาพ ทำให้ผมต้องทบทวนตัวเองกับทัศนะคติด้านลบสำหรับคำว่าคนจีนให้แคบลง  และครุ่นคิดในใจว่าความบาดหมางระหว่างชาติพันธ์ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจะต้องร้องขอกับใคร

ยามเช้าตามเวลานัดหมาย ๐๗.๐๐ น. รถตู้รุ่นจิ๋วขนาดเจ็ดที่นั่งพร้อมคนขับใจดีชื่อ ติ่งจู ขับไต่ระดับความสูงเริ่มต้น ๓,๒๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล ลัดเลาะตามขอบภูเขาหินปูนอันเวิ้งว้างสูงชันจนไม่กล้าที่จะมองลงไปยังเบื้องล่าง 

“เหมือนนั่งอยู่บนเครื่องบินเลยนะ” เพื่อนร่วมทางกระซิบข้างหู พร้อมกับการสาธยายถึงอนาคตการเดินทางอย่างน่าหวาดเสียว

“มีแต่ถนนเลนส์เดียวแคบๆ ข้างถนนก็ไม่มีต้นไม้ ไม่มีแนวกั้นระหว่างหุบเขา ถ้าพลาดจะเกิดอะไรขึ้น” ผมย้อมใจด้วยการจิบเบียร์ แต่ก็ไม่สามารถเก็บความรู้สึกหวาดหวั่นเอาไว้ได้ 

“ไม่ต้องคิดอะไรแล้ว ถ้าพลาดกระดูกซักชิ้นไม่รู้ว่าจะเอากลับบ้านได้หรือเปล่า” เป็นความคิดเห็นที่พยามให้พ้นจากความกลัวอันเกิดจากการคิดถึงความเลวร้ายอย่างถึงที่สุด และมันก็ทำให้คนในรถได้อมยิ้มขึ้นมาได้บ้าง 

เดือนมีนาคม สันเขาที่โอบล้อมแชงกรี-ล่ายังคงปกคลุมไปด้วยหิมะ อุณหภูมิพื้นราบโดยเฉลี่ย ๑๒ องศา ยอดเขาติดลบ โดยทั่วไปอาจเย็นกว่าฤดูหนาวในภาคเหนือและภาคอิสานของไทย 

    บนชายคาโลกตรงสันปันน้ำจิงสาเจียง-หลานซางเจียง(แม่น้ำแยงซี-แม่น้ำโขง) วันที่ผมยืนอยู่บนแผ่นดินสูงสุดในชีวิตผมเริ่มถามหาลมหายใจ อยู่กับความเป็นจริงที่ว่ายิ่งสูงยิ่งหนาว ความสูงเกินกว่า ๔,๐๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล อากาศมีให้หายใจน้อยลงหากเราเคลื่อนตัวเองอย่างเร่งรีบ เราหายใจแทบไม่ทัน ผมคิดถึงลุงยามเจ็บป่วยอย่างเดียวดายในห้องนอนคนไข้พิเศษ ลุงบอกผมในเวลาขณะนั้นว่า “ลุงกำลังตามหาลมหายใจ”

    ความรักที่มีต่อแม่น้ำโขงทำให้ผมมีโอกาสออกเดินทางค้นหาความงามในหลายแง่มุม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจสืบทอดสิ่งที่พบเห็นให้คนเดินตาม ค้นหาความรู้พบปะผู้คนอีกมากมายเพื่ออธิบายเหตุผลปกป้องแม่น้ำอันเป็นสมบัติสาธารณะ

    ผ่านจากสันปันน้ำเส้นทางผ่านแยงซีเกียง-แม่น้ำโขง ลัดเลาะไหล่เขาลงสู่พื้นที่ลุ่มน้ำโขง ในความรู้สึกอันเคยชินผมยังคงคิดถึงความหมายของลุ่มน้ำคือที่ราบลุ่มแต่มันเป็นภูเขาสูงตระหง่านสลับซับซ้อน ยอดเขายังคงถูกปกคลุมไปด้วยหิมะเช่นเดิม เราเดินทางผ่านภูเขาหิมะ “ไป๋ห่าง” แต่ยังไม่มีโอกาสได้เห็นยอดเขาอันสวยงามตามคำบอกเล่าว่าเคยมีคนมานอนรอเป็นเดือนกว่าท้องฟ้าจะเปิด  และมีบางคนที่มีโอกาสได้เห็นในระหว่างการเดินทาง แต่พวกเราไม่มีโอกาสทั้งสองอย่าง

    ประตูเมือง เจดีย์สีขาวถูกผูกธงสลับสีสลักความเชื่อเป็นริ้วยาวทำให้รถทุกคันต้องจอดแวะสักการะ พร้อมกับการปรากฏตัวของภูเขาหิมะ “เหมยลี่”

เต๋อชิงเขตปกครองตนเองชนชาติธิเบต ได้รับการยกสถานะให้เป็นเมืองมรดกโลกเนื่องเพราะเป็นทางผ่านของแม่น้ำสามสายคือ สาละวิน โขง แยงซี วิถีวัฒนธรรม ภาษาของพวกเขายืนยันความเป็นธิเบตอย่างเต็มตัว  

พวกเราได้รับการต้อนรับจากเครือข่ายชาวบ้านเชื้อสายธิเบต-จีน ในห้องประชุมของโรงแรมเล็กๆแห่งหนึ่งในเต๋อชิงเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนสถานการด้านสิ่งแวดล้อม วิถีวัฒนธรรมของคนต้นน้ำกับคนกลางน้ำ ผ่านการสื่อสารถึงสี่ภาษาเริ่มจาก ธิเบต จีน อังกฤษ ไทย สลับกันไปมา ผู้แทนทางเราได้พูดถึงการทำงานด้านการอนุรักษ์แม่น้ำโขง-แม่น้ำสาขา กับการทำงานวิใจไทบ้านในการสะท้อนปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับแม่น้ำโขง 

หลังเสร็จภารกิจในห้องประชุม พวกเราได้รับเชิญไปหมู่บ้านห่างจากเมืองราว ๒๐ กิโลเมตา เส้นทางลัดเลาะไปตามไหล่เขาสูงมองลงไปเห็นแม่น้ำโขงเหมือนเป็นลำธาร เห็นความงามปนความตื่นเต้นหวาดเสียวกับเส้นทาง จนกระทั่งหยุดพักริมทางโค้งของภูเขา เพื่อนชาวจีนบอกให้เราชะโงกดูแม่น้ำโขงไหลอ้อมเขา ชาวบ้านเรียกชื่อบริเวณนี้ว่า “โค้งพระจันทร์”

ก่อนถึงหมู่บ้านเกิดเหตุการณ์ตื่นเต้นอีกครั้งเมื่อรถเกิดอาการเลื้อยเหมือนงูคนขับแตะเบรคจนรถหยุดกระทันหัน ติ่งจู คนขับรีบเปิดประตูวิ่งลงไปดูกลับมาพร้อมคำตอบว่ายางรถรั่ว ทุกคนถอนหายใจเกือบไปหากเกิดขึ้นบนทางลาดชันไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้น เพื่อให้ไม่เสียเวลาเพื่อนชาวจีนจึงพาเราออกเดินเท้าเข้าหมู่บ้านไปก่อน

จาบีหมู่บ้านบนไหล่เขา..พวกเราเดินเรียงแถวเป็นธรรมชาติ ตามเส้นทางเท้ากำหนดให้เดินเมื่ออ้อมไหลเขาซักพักก็ปรากฏเห็นหมู่บ้านเบื้องหน้า บ้านแต่ละหลังอยู่ห่างกันคนละมุมตามไหล่เขาสูงชัน เมื่อมองผ่านช่องว่างระหว่างเขาฉากหลังเป็นดังภาพวาดภูเขาสูงเรียงสลับซับซ้อนสุดสายตาใต้ท้องฟ้าสีฟ้าเข้ม

ถึงประตูบ้านจุดนัดพบผู้นำหมู่บ้าน เจ้าภาพฝ่ายหญิงแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองอย่างมีสีสันทั้งแดง เหลือง ชมพู สลับด้วยสีดำดูมีมนต์ขลัง หญิงสาวยื่นขันน้ำให้ทุกคนเมื่อเดินผ่านแตะพรมแสดงการต้อนรับด้วยความใสสะอาจเหมือนน้ำจากภูเขาสูง

จากบีเป็นหมู่บ้านเล็กๆอยู่กันราว ๓๐ ครัวเรือน ประชากรร้อยกว่าคนดำรงชีวิตด้วยการเลี้ยงสัตว์นับตั้งแต่จามลี หมู ไก่ ปลูกข้าวบาเล่ย์แปรรูปเป็นแผ่นเหนียวไว้กิน นอกจากนั้นก็เก็บสมุนไพรตามภูเขา มีชนิดหนึ่งมักเคยได้ยินคือ ตังถั่งเช่า หรือหญ้าหนอนฤดูหนาวหนอนผีเสื้อที่ซุกตัวอยู่ในดินหลบอากาศหนาวติดลบ บางตัวถูกสปอร์เห็ดราอาศัยเป็นปรสิตจนกระทั่งเจริญเติบโตเป็นเส้นใยในตัวหนอนแห้งมีสรรพคุณชวนให้คิด

หลังพบปะพูดคุยกับผู้นำหมู่บ้านพวกเราถูกแยกให้ไปนอนตามบ้านชาวบ้านหลังละสองคนโดยใช้ภาษามือในการสื่อสารเรียนรู้วิถีชีวิตประจำวันของแม่บ้านซึ่งทำงานในบ้านเป็นหลักผู้ชายส่วนใหญ่ออกไปทำงานนอกบ้าน ถ้าอยู่ในบ้านก็จะเห็นนั่งจิบน้ำชาเป็นประจำ บ้านที่ผมพักมีผู้ชายสองคนหญิงหนึ่งคน เธอเริ่มงานตั้งแต่เช้ามืดก่อไฟต้มน้ำทำนมจามรี หุงหาอาหารเช้า ให้อาหารสัตว์เลี้ยง เธอทำงานอย่างคล่องแคล่วไม่หยุดมือ ปิดท้ายด้วยช่วงบ่ายออกไปรอบๆหมู่บ้านเกี่ยวหญ้ามาให้จามลี ก่อนจะเข้าครัวอีกครั้ง

ค่ำคืนก่อนเดินทางกลับเหมือนมีงานใหญ่ในหมู่บ้าน ทุกครอบครัวมารวมตัวกันที่บ้านผู้นำ ณ ห้องโถงใหญ่สี่เหลี่ยม ชิดฝาด้านหน้ามีเตาไฟสองเตาในหนึ่งตั้งกระทะ ใบหนึ่งหม้อขนาดบรรจุอาหารให้คนราวแปดสิบคนทั้งคนเฒ่า คนมีครอบครัว คนหนุ่มคนสาว เด็กๆ นั่งโต๊ะหันหน้าล้อมวงตรงกลางมีการแสดงเต้นรำ ทั้งดื่มกินอาหารร่วมกัน สลับด้วยการพูดคุยผ่านล่ามและเป็นค่ำคืนที่ถือโอกาสขอบคุณผู้นำ ชาวบ้านก่อนกลับในเวลาห้วงเวลาเดียวกัน

“หากเราเดินทางต่อไปจนถึง ลาซา เมืองหลวงของธิเบตระยะทางประมาณ ๖๐ กิโลเมตร ต้องใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ราว ๗ ชั่วโมง” 

เพื่อนชาวจีนตอกย้ำถึงเป้าหมายในใจของพวกเราในครั้งต่อไป เพราะเรามาถึงเพียงแค่ชายขอบของเขตปกครองตนเองชนชาติธิเบต เรายังไปไม่ถึงหลังคาโลกต้นกำเนิดแม่น้ำโขง

More to explorer

สำรวจพื้นที่ 2 โครงการยักษ์เขื่อนกั้นแม่น้ำโขง พบการก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบางคืบหน้าไปมาก-กั้นลำน้ำโขงแล้วเกือบครึ่ง-อพยพชาวบ้านแล้วบางส่วน ชาวบ้านน้ำตาตกวัด-พระพุทธรูปเก่าต้องอยู่ใต้น้ำ ขณะที่เขื่อนปากแบงยังไม่ได้ลงมือก่อสร้างใดๆ นักอนุรักษ์-นักกฎหมายจี้ตอบคำถามผลกระทบข้ามแดน